เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ของจริงหรือฟองสบู่ ?

เมื่อเทียบเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซียกับเศรษฐกิจประเทศอื่นในเอเชียแล้ว เศรษฐกิจอินโดนีเซียนั้นมีอะไรให้อิจฉาหลายข้อ

อย่างแรกคือ การที่เศรษฐกิจของเขามีอัตราการเจริญเติบโต (GDP Growth Rate) ที่มีเสถียรภาพสูง โดยโตอย่างสม่ำเสมอที่อัตราประมาณ 6% ใน 5 ปีที่ผ่านมา จนรัฐบาลอินโดนีเซียชอบพูดอย่างภูมิใจเสมอว่า ขนาดในปี 2552 ที่ทั้งโลกโดนกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนนี้ก็ยังโตได้ 4.6% ขณะที่ไทยกับมาเลเซีย ติดลบประมาณ 2% และแม้แต่เศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพาการส่งออกมากอย่างฟิลิปปินส์ก็โตได้แค่ 1%

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีหนี้ในระบบต่ำมาก ทั้งในรัฐบาล (23% ของ GDP) และภาคเอกชน (33% ของ GDP) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่อินโดนีเซียนั้นเบี้ยวไม่จ่ายและยกเลิกหนี้ไป หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือการที่รัฐบาลเขาระมัดระวังการใช้จ่ายการคลังมากในสิบปีที่ผ่านมา ถึงขนาดมีกฎในรัฐธรรมนูญว่าการ
ขาดดุลการคลังนั้นห้ามเกิน 3% ของ GDP

สุดท้ายแม้แต่เรื่องที่เคยเป็นจุดอ่อนใหญ่ของอินโดนีเซียมาตลอด อย่าง “เงินเฟ้อ” ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็อยู่ภายใต้การควบคุมได้อย่างน่าแปลกใจ ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจและสินเชื่อโตอย่างรวดเร็วเกิน GDP เสมอมา จนทำเอานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ผิดครั้งแล้วครั้งเล่า

ขวัญใจของนักลงทุน

จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศนี้เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนทุกประเภท ใน 5 ปีที่ผ่านมา ในด้านตลาดหุ้นก็เป็นตลาดที่ร้อนแรงที่สุดของอาเซียน (ดัชนีปรับตัวขึ้นมา 110% ในช่วงเวลานี้) พันธบัตรรัฐบาลก็ได้อัพเกรดระดับความน่าเชื่อถือ จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่าง ๆ กลับมาเป็น Investment Grade ตั้งแต่ปี 2554 บริษัทข้ามชาติ (Multinational Companies) ก็นำเงินมาลงทุกปี ทีละ 1-1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทำเอาไทยกับมาเลเซียที่ได้ปีละ 8-9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นดูน้อยไปเลย (ถ้าไม่เทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ) บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงมีบริษัทชั้นนำที่ลงทุนในอินโดนีเซีย เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ แต่ยังมีเจ้าอื่น เช่น พวกยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างโตโยต้าและการค้าปลีก เช่น ยูนิลีเวอร์ ที่อยากได้ประโยชน์จากตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ เมื่อขนาดของชนชั้นกลางกำลังเติบใหญ่ (Mckinsey คาดการณ์ว่าตลาด

ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อในอินโดนีเซียจะขยายใหญ่ขึ้น จาก 45 ล้านคนในปี 2553 เป็น 85 ล้านคนภายใน 10 ปี)

ในขณะเดียวกันแรงงานราคาถูกก็ยังมีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะประชากรที่ยังเด็กและโตเร็ว สุดท้ายที่ลืมไม่ได้คือธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่มาแรงเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเศรษฐีพันล้านที่นิตยสาร Forbes บอกว่ามีถึง 25 คนในอินโดนีเซีย (อยู่ที่อันดับ 5 ของเอเชีย และสูงกว่าญี่ปุ่นหรือไทยที่มี 10 คน) เริ่มนำเงินที่คนเชื่อว่าเก็บไว้ที่สิงคโปร์กลับมาลงทุนในประเทศของตนมากขึ้น

ภัยซ่อนเร้นสภาวะฟองสบู่

หากจะถามว่าอย่างนั้นรีบไปลงทุนในอินโดนีเซียกันเลยไหม? ผมว่ายังก่อนดีกว่าครับ เมื่อที่ใดดูดีไร้ที่ติเกินความเป็นจริงจนนักลงทุนต่างชาติเรียกกัน ว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์” เหมือนกับที่ไทยเราเคยถูกขนานนามก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง

เมื่อนั้นคือยามที่ต้องถอยหนึ่งก้าวแล้วเอาแว่นขยายมาส่องมองให้ลึกลงไปอีกสักหน่อยเสมอ

แท้จริงแล้วเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเริ่มมีอาการหลายอย่างที่ส่อถึงสภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า”Overheating” หมายถึงการที่เศรษฐกิจโตเร็วเกินไป แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินหลายคนมองข้ามปัญหานี้ไป มีอย่างน้อยสองข้อคือ

ข้อแรกคือ การที่พวกเรามักจะให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อมากเกินไปในการเป็นสัญญาณเตือนภัย เหมือนเป็นปรอทวัดอุณหภูมิที่เชื่อถือได้ เมื่อเงินเฟ้อไม่ดีดตัวขึ้นสูงอย่างมีนัย นักเศรษฐศาสตร์

และนักลงทุนจึงวางใจคิดว่า “ไม่มีอะไร” ต้องห่วง และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธนาคารชาติของอินโดนีเซียวางใจถึงขนาดลดดอกเบี้ยลงไปอีก

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกผ่านไปแล้วอีก 0.75% จนดอกเบี้ยนโยบายนั้นลงมาอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่ออัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มในยามที่ GDP ยังโตได้เฉลี่ยปีละกว่า 6% อย่างไม่มีปัญหา (เป็นรองแค่จีนและอินเดีย)

ซึ่งนโยบายการเงินที่ผิดพลาดนี่เองก็คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียนั้นเริ่ม Overheat

ถ้าเรามองกลับไปในประวัติศาสตร์จริง ๆ แล้ว หลายต่อหลายครั้งเงินเฟ้อไม่ใช่สัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจล่วงหน้าที่ดี ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกาก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤตดอตคอม (Dot-com Crisis) หรือในอินโดนีเซียเอง ช่วงก่อนฟองสบู่จะแตกตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง เงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นก็ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น ไม่ได้เตือนภัยว่า “เครื่องยนต์ร้อนจนไฟติดแล้ว” สุดท้ายเครื่องเลยระเบิด

โดยทั่วไปสิ่งที่เตือนภัยได้ดีกว่ามากคือ ราคาสินทรัพย์ เช่น ราคาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในกรณีของอินโดนีเซียนั้น เรียกได้ว่าปราบเซียนซ้อนขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เพราะหากไปดูดัชนีราคาอสังหาฯที่รวบรวมโดยรัฐบาล จะพบว่าราคานั้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นสูงนัก อยู่เพียง 5-7% ต่อปีที่ผ่านมา

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะตัวเลขไม่สะท้อนถึงสภาพความจริง ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน บ้าน คอนโดฯ ราคาไม่ได้ขึ้นทุกที่เหมือนฝนที่ตกไม่ทั่วฟ้า เพราะฉะนั้น หากดูดัชนีราคาอสังหาฯที่เป็นค่าเฉลี่ย หรือถามผิดคน ก็จะไม่รู้ว่าราคาขึ้นสูงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่ขนาดนี้

ตอนนี้สิ่งเดียวที่ออกอาการ ฟ้องว่าเศรษฐกิจมหภาคของอินโดนีเซียกำลังมีปัญหาคือ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance) ที่ตกฮวบ จากที่เคยเกินดุลกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นติดลบ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการขาดดุลที่สูงที่สุด ยิ่งกว่าช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งเสียอีก

นี่ก็เป็นปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่ทำให้ธนาคารชาติของอินโดนีเซียต้องเข้าไปแทรกแซงพยุงค่าเงินรูเปียห์ไม่ให้อ่อนไป ในขณะที่ประเทศอื่นในเอเชียกำลังปวดหัวเรื่องเงินตนเองแข็งเกินไป

มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียนี้เป็นปัญหาเพียงชั่วคราว เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ที่ประเทศนี้ส่งออก เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และยางพารานั้นซบเซามากในปีที่ผ่านมา แล้วปีนี้ราคาน่าจะกระเตื้องกลับขึ้นสูง

แต่วิธีคิดเช่นนี้มีข้อบกพร่องสองข้อคือ ข้อแรก-ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้อาจไม่ดีขึ้นสักเท่าไร โดยเฉพาะถ่านหิน เมื่อลูกค้าใหญ่อย่างจีนพอใจกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าเดิม และยังมีสต๊อกอยู่มาก สอง-หากเราแยกบัญชีการค้าของอินโดนีเซียเป็นส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ กับส่วนที่ไม่เกี่ยว (Commodity and Noncommodity Trade Balances) จะเห็นว่าส่วนที่ไม่เกี่ยวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นแย่ลงมากเช่นกัน

จึงโทษราคาถ่านหินหรือน้ำมันปาล์มไม่ได้ แต่ต้องโทษอุปสงค์ภายในประเทศที่โตเร็วเกินไป จนเศรษฐกิจเริ่ม Overheat อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น

เศรษฐกิจอินโดฯจะพังหรือไม่ ?

คำตอบคือ ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะพัง และผจญกับวิกฤตแบบช่วงปี 2540-2542 แต่มันเป็นสัญญาณเตือนว่าค่าเงินรูเปียห์จะถูกแรงกดดันให้อ่อนตัวลงไปอีก เพราะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนี้น่าจะแย่ลงกว่าปีที่แล้ว ทำให้มีเงินที่ไหลออกจากอินโดนีเซียมากกว่าเงินที่ไหลเข้า

และแม้แบงก์ชาติของอินโดฯจะแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินอยู่สุดท้ายรัฐบาลคงไม่อยากใช้เงินสำรองต่างประเทศมากเกินไป และน่าจะยอมให้ค่าเงินค่อย ๆ อ่อนตัวลงจนเกิน 10,000 เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลลบต่อภาคเศรษฐกิจและธุรกิจที่พึ่งพาการนำเข้าสูง เช่นภาคยานยนต์และก่อสร้าง ในขณะที่ธุรกิจที่เน้นส่งออก เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และยางพารา จะได้รับประโยชน์

สุดท้ายรัฐบาลก็คงไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการเหยียบเบรกเพื่อชะลออุปสงค์ภายในประเทศ อาจจะด้วยการผลักภาระราคาน้ำมันที่ตนอุ้มอยู่ให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเองมากขึ้น หรือการปล่อยให้ธนาคารชาติขึ้นดอกเบี้ยบางตัว เพื่อลดปัญหา Overheating ลง

ถ้าเราเป็นนักลงทุนในอินโดนีเซีย คงต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมกับการปรับตัวของอินโดนีเซียที่น่าจะเกิดในไม่นานนี้หรือยัง

เมื่อมองเขาแล้วกลับมามองเรา

นิทานเรื่องนี้มีข้อคิดสำคัญ ที่ว่าการจะดูว่าเศรษฐกิจ Overheat หรือมีสภาวะฟองสบู่หรือไม่นั้น ต้องดูจากหลายมุม และเข้าใจข้อจำกัดของตัวแปรเศรษฐกิจแต่ละตัว ซึ่งเปรียบดั่งปรอทวัด

อุณหภูมิที่มีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่อัตราเงินเฟ้อที่เรามักจะให้ความสำคัญค่อนข้างมาก จนบางครั้งอาจจะมากเกินไป

ในกรณีของประเทศไทย “ปรอทวัดไข้” ที่อาจต้องจับตาดูคือ การเจริญเติบโตของหนี้ภาคครัวเรือน ราคาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ รวมไปถึงดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งอาจเปลี่ยนจากบวกเป็นติดลบได้ในเวลาไม่นาน

เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจของไทยวันนี้ยังไม่ Overheat แบบอินโดนีเซียขณะนี้ แต่ถ้านโยบายการเงินและการคลังของเรายังกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอย่างไม่ระวัง ปีหน้าบทความนี้อาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็นเรื่องของประเทศไทย

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย
ที่มา: prachachat.net (1218)

Comments are closed.