คุยกับ “จิมมี่ซอฟต์แวร์” “เทกสตาร์ตอัพ” รุ่นบุกเบิกสอนน้อง

โลดแล่นอยู่ในวงการซอฟต์แวร์มาเกือบ 15 ปี “ภาณุทัต เตชะเสน” หรือ “หมอจิมมี่” เจ้าของ จิมมี่ซอฟต์แวร์ ถือเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติไทยรายแรกที่ส่งออกงานไปในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเกม หรือโปรแกรมสำหรับธุรกิจ ทั้งยังเคยเป็นกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) นานถึง 3 ปี ก่อนเก็บตัวขยายธุรกิจของตัวเองอย่างเงียบ ๆ ในจังหวะที่เทกสตาร์ตอัพบ้านเรากำลังคึกคักอย่างยิ่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ สตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิกหลากหลายแง่มุม ดังนี้

- ยังทำงานในวงการซอฟต์แวร์

ครับ เพราะรักและชอบ แต่ลักษณะการทำซอฟต์แวร์จะแตกต่างออกไปจากอดีตที่ทำซอฟต์แวร์ให้ผู้บริโภคทั้งในคอมพิวเตอร์, พ็อกเกตพีซี รวมถึงอุปกรณ์ไอทีอื่น ๆ เน้นไปที่การส่งออกไปขายในต่างประเทศ แต่ตอนนี้เน้นทำซอฟต์แวร์ให้องค์กรต่าง ๆ ใช้งาน เพราะการแข่งขันในตลาดคอนซูเมอร์ค่อนข้างสูง ขณะที่ตลาดองค์กรยังมีช่องว่างที่จะเข้าไปตอบโจทย์ได้อีกมาก แต่จำหน่ายแค่ในประเทศเป็นหลัก

- ทำไมเงียบไปนาน

ตั้งแต่เปิด “จิมมี่ซอฟต์แวร์” เมื่อปี 2540 เพื่อผลิตซอฟต์แวร์ลงแผ่นก่อนส่งไปขายทั้งในและต่างประเทศ ช่วงนั้นต่อแผ่นขายได้ 30 เหรียญ ขายได้มาก เพราะคนที่มีความรู้เรื่องนี้ยังน้อย ทำให้บริษัทโด่งดังในระดับโลก แต่ซอฟต์แวร์ที่ขาย ไม่ได้พัฒนาจากคนไทยอย่างเดียว มีทีมงานจากสเปนและฟินแลนด์ด้วย

พอปี 2545 มาถึงจุดเปลี่ยน มีรายได้จากการจำหน่ายซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในระบบไอทีขององค์กร และปั๊มซอฟต์แวร์เกมขาย ตลาดเกมเข้าสู่ยุค 3D แต่เราไม่พร้อม ทีมงานคนไทยยังไม่มีความรู้เรื่องการพัฒนาเกมแบบนี้ ถ้าจ้างต่างชาติต้นทุนสูง จึงลดสเกลบริษัท หันมาทำเกม 2D เพื่อจำหน่าย

- กลับมารุกหนักอีกรอบเมื่อไหร่

พอเราทำเกมมือถือและรับจ้างสร้างซอฟต์แวร์ให้องค์กรระยะหนึ่ง สมาร์ทโฟนก็ดังขึ้นมา ทำให้รุกมาที่ตลาดนี้ โดยหาพาร์ตเนอร์มาช่วย ก็ไปคุย บมจ.เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) เขาเป็นผู้ค้าสินค้าไอทีและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ สุดท้ายตกลงตั้งบริษัทใหม่ด้วยกัน คือ “คลิก คอนเนค” ปี 2553

จิมมี่ซอฟต์แวรร์ลดบทบาทเป็นแค่ผู้ถือลิขสิทธิ์ทางปัญญาทั้งหมดที่ทำมาตั้งแต่แรกและตั้งอีกหลายบริษัท เช่น “ไทยทีวี โซเชียล” ทำเพจบนเฟซบุ๊กให้ข้อมูลเรื่องบันเทิง, ดารา วงการทีวี สร้างฐานลูกค้าไว้สำหรับทำธุรกิจใหม่ มีคนติดตามกว่า 1.8 ล้านคน ตั้ง “ไทยทีวี เรตติ้ง” เตรียมรับงานวิเคราะห์อัตราผู้ชม หรือวัดเรตติ้งทีวีดิจิทัล มีบริษัท “อัลไลด์ เทค โซลูชั่น” จำหน่ายฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ รวมถึงระบบไอทีในพม่า และ “บิ๊กดาต้า ไทยแลนด์” บริการโลเกชั่นเบสและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่

- ทำไมกระจายหลายบริษัท

จิมมี่ซอฟต์แวร์เป็นคนดูแลลิขสิทธิ์และถือหุ้นใหญ่ใน “คลิก คอนเนค” ที่ดูเรื่องการหางานเพื่อสร้างรายได้ ถ้ารวมงานไว้ที่เดียว บริษัทอาจโหลดมากไป และพัฒนาซอฟต์แวร์ออกมาได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นการกระจายงานออกไปน่าจะดีกว่า

บริษัทใหม่เป็นการร่วมทุนกับบริษัทที่เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น เช่น “บิ๊กดาต้า ไทยแลนด์” ถือหุ้นร่วมกันกับโอเปอเรเตอร์รายหนึ่งในไทย “อัลไลด์ เทค โซลูชั่น” ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในพม่า

- รายได้เป็นอย่างไร

พอเลี้ยงตัวเองได้ คลิก คอนเนค มีพนักงาน 60 คน ทั้งหมดต้องดูแลงานต่างกันไป บางทีก็มีไม่พอบ้าง เพราะคนออกเร็ว บางเรื่องคนไทยยังพัฒนาได้ไม่เท่าต่างประเทศ ต้องไปคุยกับเพื่อนที่เมืองนอก จ้างพวกเขาให้ช่วยพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้ลูกค้าได้เร็วขึ้น ดังนั้นท้ายสุด งานของเราก็ยังไม่เป็นของคนไทย 100% อยู่ดี

ถ้าเทียบการหารายได้เมื่อก่อนกับตอนนี้ เห็นชัดเจนว่าต่างกัน เมื่อก่อนขายซอฟต์แวร์ไปต่างประเทศ คนมาซื้อเราได้เงิน แต่ต้องเสี่ยงกับการพัฒนาไปก่อน และไม่รู้ว่าคนจะซื้อหรือไม่ ตอนนี้เน้นในประเทศ เข้าไปเสนอโปรเจ็กต์ก่อนค่อยผลิตงาน

- ปีนี้จะทำอะไรใหม่

เปิดอีก 3 บริษัทรับงานโลเกชั่นเบสโดยเฉพาะ อยู่ในร่ม “บิ๊กดาต้า ไทยแลนด์” ได้แก่ “อินเครดิเบิลมูฟ” ดีลงานกับห้างสรรพสินค้า สร้างระบบนำทางในห้าง (อินดอร์เนวิเกชั่น) “เอ็มแทรค โซลูชั่น” รับงานโรงพยาบาล และ “เนชั่นแนล ซิสเต็ม อินทริเกเตอร์” รับงานหน่วยงานราชการที่หันมารุกเพราะมีอุปกรณ์ใหม่ Bluetooth Low Energy นำไปติดตั้งที่ใดก็จะส่งสัญญาณบลูทูทไปยังสมาร์ทโฟนเพื่อยืนยันตำแหน่งให้ผู้ใช้ สั่งเปิดแอปเพื่อแสดงข้อมูล ถ้าแอปเปิลออก iWatchแวเรเบิลดีไวซ์จะบูม คนจะไม่ปิดบลูทูทอีกต่อไป

- มองนักพัฒนาหน้าใหม่ในไทยอย่างไร

เด็กเก่งขึ้นมาก แต่ก็มีปัญหาใหม่ คือขาดบุคลากร ทั้ง่ภาคการศึกษาไม่สามารถผลิตคนที่มีคุณภาพ รวมถึงเทรนด์สตาร์ตอัพที่กำลังมา ทำให้เวลารับเด็กใหม่ 3 เดือนแรกต้องเทรนด์หนัก แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับบริษัท พอปีกแข็งขึ้นหรือขยับขึ้นเป็นหัวหน้าได้ ก็ลาออกไปเป็นสตาร์ตอัพ

นอกจากนักพัฒนา คนทำกราฟิกก็ด้วย เพราะ “ไลน์” เปิดช่องให้พวกเขาวาดภาพและส่งขึ้นไปขายเป็นสติ๊กเกอร์ได้ทันที ถ้าคนสองด้านนี้ออกเร็วและไปเป็นสตาร์ตอัพ บริษัทอย่างเรารวมถึงซอฟต์แวร์เฮาส์อื่นคงอยู่ยากขึ้น ผมรอเปิดเออีซี คนฟิลิปปินส์หรือพม่ามีความรู้ภาษาอังกฤษมากกว่าไทย มีวินัยในการทำงานจะหลั่งไหลมา

- การสนับสนุนของภาครัฐ

ผมเคยเป็นคณะกรรมการซิป้า ปี 2546-2549 ทำให้รู้ว่าภาครัฐแทบไม่ได้ช่วยเหลือ ปัญหาสำคัญ คือไม่เข้าใจธุรกิจซอฟต์แวร์ จะลงทุนอย่างเดียว แถมการลงทุนจากซิป้ายังมาในรูปแบบเงินกู้ ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ของการลงทุนในธุรกิจซอฟต์แวร์ที่เสี่ยง ต้องกล้าเสีย ไม่ใช่พอเจ๊งต้องมาชดใช้ ดังนั้นรัฐน่าจะกล้าลงทุนนี้ให้เหมือนเอกชนทำ

- มีอะไรฝากถึงเทกสตาร์ตอัพรุ่นใหม่

ขอให้เข้าใจว่าธุรกิจนี้ความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนก็สูง ดังนั้นต้องตั้งใจ มีวินัยทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องเงิน รวมถึงพัฒนาความรู้ถึงจะประสบความสำเร็จได้ ส่วนภาครัฐช่วยให้การสนับสนุนที่ดีขึ้น แม้ดีเวลอปเปอร์ทุกคนจะเข้าใจว่าต้องเดินด้วยตัวเองในวงการนี้แล้วก็ตาม

Cr.http://www.prachachat.net/ (524)

Comments are closed.