คดีซื้อรถดับเพลิง จำคุก12ปี ‘ประชา มาลีนนท์’ เผ่นไม่ฟังคำพิพากษา ศาลระบุแพงเกินจริง ร่วม‘อดีตผอ.สำนักฯ’ ที่เหลือยกฟ้องหมด โภคิน-วัฒนา-อภิรักษ์
ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 10 ปี ในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินคดีทุจริตรับซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. มูลค่า 6 พันกว่าล้านบาท สั่งจำคุก “ประชา มาลีนนท์” อดีต รมช.มหาดไทย 12 ปี “อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ” อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 10 ปี ทั้งคู่เหมือนรู้ชะตากรรมไม่โผล่ฟังคำพิพากษา ขณะที่ “โภคิน-วัฒนา-อภิรักษ์” ยกฟ้อง พยานหลักฐานชี้ชัดมีการสั่งซื้อราคาแพงเกินจริงเอื้อประโยชน์ให้บริษัทชื่อ ดังฟันกำไร 2 พันล้านบาท
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 10 ก.ย. นายธานิศ เกศวพิทักษ์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 กรณีจัดซื้อรถ และเรือดับเพลิง อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย กทม.มูลค่า 6,687,489,000 บาท เหตุเกิดเมื่อปี 2547
ก่อน พิจารณาคดี นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. จำเลยในคดีที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 10 ปี ต่างเดินทางทยอยไปรอฟังคำพิพากษาอย่างใจจดใจจ่อด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ขาดเพียงนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย เจ้าสัวตระกูลดังที่ถูกออกหมายจับข้อหาไม่ยอมมาฟังคำพิพากษาครั้งแรกเมื่อ วันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ที่ส่งทนายความมาแทน
ศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ป.ป.ช.โจทก์ในคดีนี้มีอำนาจฟ้องตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และสามารถชี้มูลความผิดโดยไม่มีผลผูกพันกับมติของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทั้งคำฟ้องโจทก์บรรยายเป็นลำดับขั้นตอนไม่ใช่การฟ้องเคลือบคลุม มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-4 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯหรือไม่ เห็นควรพิจารณาว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวไม่มีความสมเหตุ สมผลทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือไม่ เห็นว่า การทำเอโอยู (ข้อตกลงการซื้อสินค้า) ระหว่างไทยกับออสเตรีย เป็นเพียงข้ออ้างทั้งที่ความจริงแล้วเป็นการเอื้อประโยชน์ในการซื้อรถและ เรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยจากบริษัท สไตเออร์ฯ จำเลยที่ 5 เช่นการจัดซื้อรถบรรทุกน้ำ 72 คัน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดซื้อภายในประเทศได้ในราคา 4 ล้านบาท รวมภาษี แต่ กทม.ต้องจัดซื้อในราคา 20 ล้านบาท แพงกว่ารวม 1,093 ล้านบาท รถไฟฟ้าส่องสว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดซื้อคันละ 5 ล้านบาท แต่ กทม. จัดซื้อคันละ 23 ล้านบาท รวมแพงกว่า 71 ล้านบาท และเรือดับเพลิงซึ่งจำเลยที่ 5 จ้างบริษัทอื่นต่อเรือให้ในราคาลำละ 14 ล้านบาท ก่อนนำมาขายให้ กทม. ราคาลำละ 25 ล้านบาท ทำให้จำเลยที่ 5 ได้กำไร 334 ล้านบาท รวม กทม.ต้องจ่ายเงินแพงกว่ารวม 2,090 ล้านบาท รวมที่ กทม.จ่ายเงินในโครงการดังกล่าวรวม 6,687,489,000 บาท ทำให้จำเลยที่ 5 มีกำไรสูงถึง 2,195 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48.77 แพงกว่าราคาปกติ
จาก พยานหลักฐานดังกล่าวศาลฎีกาฯเห็นว่า ราคารถและเรือดับเพลิงมีราคาสูงเกินจริงไม่มีความสมเหตุสมผล เนื่องจากรถและเรือดับเพลิงไม่ใช่สินค้าพิเศษ เมื่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสามารถจัดซื้อได้จากผู้ผลิตภายในประเทศ และซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่ามาก แต่การจัดซื้อของ กทม.เป็นการเอื้อประโยชน์ให้จำเลยที่ 5 โดยตรงเพื่อเลี่ยงการแข่งขันการประกวดราคาอย่างไม่เป็นธรรม เป็นการเอาเปรียบ กทม. องค์คณะมีมติว่าการจัดซื้อดังกล่าวไม่มีความสมเหตุสมผล ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1-4 และ 6 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นควรพิจารณาเป็นรายบุคคลเห็นว่า พล.ต.ต.อธิลักษณ์ จำเลยที่ 4 เป็นผู้ติดต่อกับจำเลยที่ 5 ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งเป็น ผบก.ตำรวจดับเพลิง ก่อนจะโอนย้ายสังกัดไปขึ้นกับ กทม. เพื่อให้การติดต่อซื้อขายกับจำเลยที่ 5 สำเร็จ โดยมีการสมคบคิดกับนายประชาจำเลยที่ 2 วางแผนในการจัดซื้อ
การ กระทำของจำเลยที่ 4 มีลักษณะเร่งรีบ เพื่อให้ทันปีงบประมาณของนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้นที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง การเสนอขายสินค้าดังกล่าวทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของจำเลยที่ 5 โดยมีการตกลงราคาสินค้าไว้ก่อนหน้าที่จะมีการลงนามร่วมกันแล้ว นำไปสู่การจัดซื้อที่รวบรัด จำเลยที่ 2 เร่งรัดให้นายอภิรักษ์จำเลยที่ 6 เปิดแอลซีกับธนาคาร กรุงไทยฯที่อนุมัติสินเชื่อให้ แม้จำเลยที่ 6 จะทำหนังสือทักท้วงให้ทบทวนพิจารณาการจัดซื้อใหม่ แต่จำเลยที่ 4 อ้างว่า ต้องปฏิบัติตามเอโอยูที่ตกลงกันไว้ภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นจะผิดสัญญา ทำให้จำเลยที่ 6 ต้องเปิดแอลซี พยานหลักฐานรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และ 4 กระทำการที่เอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 โดยตรง
ปัญหาที่ต้องพิจารณา ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และ 4 มีความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 หรือไม่ เห็นว่า คณะที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 แนะนำให้ทำสัญญาซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ ในลักษณะต่างตอบแทนกัน นำไปสู่การทำเอโอยูเป็นข้ออ้างว่าต้องดำเนินการตามข้อตกลง ที่จำเลยที่ 2 และ 4 จะซื้อรถและเรือจากจำเลยที่ 5 เอื้อประโยชน์ให้จำเลยที่ 5 ทำสัญญากับ กทม.เพียงรายเดียว ไม่ใช่การแข่งขันอย่างเป็นธรรม ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 องค์คณะมีมติเสียงข้างมากว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 ส่วนจำเลยที่ 4 มีความผิดมาตรา 12 แต่จำเลยที่ 2 และ 4 ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ออกแบบและกำหนดผลประโยชน์ต่างตอบแทน ส่วนจำเลยที่ 1, 3 และ 6 ไม่มีความผิดตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ 1 เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ต่อจากนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา จึงลงนามไปตามหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงได้ว่า รู้เห็นหรือเอื้อประโยชน์ ขณะที่จำเลยที่ 6 ได้ทำหนังสือให้ทบทวนการเปิดแอลซีตั้งแต่แรก แต่จำเป็นต้องเปิดแอลซี เนื่องจากเกรงว่าจะทำผิดสัญญาเอโอยู ตามที่จำเลยที่ 4 อ้าง
พิพากษา ว่า นายประชา มาลีนนท์ จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 13 ประกอบ มาตรา 12 ส่วน พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 12 จำเลยที่ 2 และ 4 กระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เป็นบทลงโทษหนักสุด จำคุกนายประชา จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 12 ปี และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์เป็นเวลา 10 ปี จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 ที่นำตัวมาคุมขังตามคำพิพาษา เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ที่ศาลออกหมายจับเพื่อมาฟังคำพิพากษาตามขั้นตอนในวันที่ 16 ต.ค.56 หากไม่มาจะออกหมายจับตามตัวมาคุมขังต่อไป
ภายหลัง นายโภคินเผยว่า ถ้าสังคมอยู่ได้ด้วยความยุติธรรมอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักนิติธรรม หลักความถูกต้องและควรที่จะให้อภัยกัน ส่วนเรื่องอนาคตทางการเมือง ขณะนี้ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่ หากมีอะไรที่จะทำหน้าที่ได้ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคก็พร้อมจะปฏิบัติ ด้านนายอภิรักษ์ กล่าวว่า เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นหลักที่สำคัญในประเทศไทย ขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงทุกฝ่ายที่ให้กำลังใจตน และครอบครัวมาโดยตลอด และขอบคุณทีมทนายความทุกคนที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริง
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2556
(1634)
อยากให้นักกฏหมายลองให้ความเห็นดูกรณีนี้หน่อย ทำไมล่าช้าเป็น 10 ปี
การวินิจฉัยครั้งนี้ชอบด้วยหลักการความรับผิดชอบหรือไม่ เพราะอะไร มีกรณีเทียมเคียง
หรือไม่ รมช ผิด รมต ไม่ผิดเพราะเพิ่งมารับตำแหน่ง ผอ ผิด ผู้ว่าไม่ผิดเพราะได้โต้แย้ง
ลูกน้องแล้ว แต่ลูกน้องยังยืนยัน ทราบว่ายังมีคดีแพ่งที่ศาลปกครองอีก เพราะเสียหายร่วม
2000 ล้านบาท และที่สำคัญของที่ซื้อมายังไม่ได้ใช้งาน ความเสียหายน่าจะกว่า 5000 ล้าน
บาท นี่ไม่นับดอกเบี้ยหรือโอกาส กรณีการย้ายรถไปไว้ในสถานที่บางบัวทอง และน้ำท่วม
มีความเสียหายหรือไม่เท่าไหร่ ใครต้องรับผิดชอบ ควรบอกให้ชาว กทม .ทราบบ้าง