ดอลลาร์แข็งค่า จากตัวเลขเศรษฐกิจสดใส

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันพุธที่ 4 กันยายน 2556 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.14/16 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันอังคารที่ (3/9) ที่ 32.12/14 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากสถาบันจัดการอุปทานของสหรัฐเปิดเผยว่า

ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 55.7 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 55.4 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบกว่า 2 ปี และขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนต่อเนื่อง หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 0.6% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ที่ 9.008 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.4% ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีนั้นช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะทำการเริ่มปรับลดมาตรการกระตุ้นในเดือนนี้

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ เพื่อทำการตัดสินใจว่าจะทำการลดวงเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือไม่ รวมถึงนักลงทุนยังคงกังวลกับสถานการณ์ในประเทศซีเรีย เนื่องจากมีรายงานว่า นายจอห์น โบห์เนอร์ สมาชิกระดับสูงของพรรคเดโมแครตได้ออกมาสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารต่อประเทศซีเรีย เพื่อตอบโต้รัฐบาลที่มีการใช้อาวุธเคมีทำร้ายประชาชน ทำให้ในระหว่างวันเงินบาทปรับตัวค่อนข้างผันผวน และมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.17-32.24 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.21/22 บาท/ดอลลาร์

สำหนับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.3191/93 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ 1.3181/83 ดอลลาร์/ยูโร โดยได้รับแรงกดดันจากค่าเงินสกุลดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างวันเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการประกาศตัวเลขภาคบริการของสเปนในเดือนสิงหาคมขยายตัวสู่ระดับ 50.4 จาก 48.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2011 แสดงถึงสัญญาณฟื้นตัวของสเปน หลังจากที่ตกอยู่ในภาวะถดถอยเป็นเวลา 2 ปี ประกอบกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของเยอรมันยังขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี สู่ระดับ 53.5 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 52.1 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเยอรมัน นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงหนุนจากการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.5 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 50.5 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดทั้งวันค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 1.3155-1.3180 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.3174/77 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 99.55/59 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดวันอังคารที่ 99.42/47 เยน/ดอลลาร์ โดยได้รับแรงกดดันจากเงินสกุลดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ในระหว่างวันค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งจะทำให้ฐานเงินเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็น 270 ล้านล้านเยนภายในสิ้นปี 2014 เพื่อบรรลุเป้าหมายงินเฟ้อ 2% โดยในระหว่างวันเงินเยนนั้นมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 99.39-99.80 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 99.57/62 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้คือ อัตราการว่างงานของฝรั่งเศส, ยอดสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมัน, การประชุมธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางยุโรป, และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ (5*9), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (6/9)

อัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.9/6.1 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +9/12 สตางค์/ดอลลาร์

ที่มาของบทความ

(1130)

Comments are closed.