เอเชีย ตั้งรับ ศก.โลกชะลอ หมดยุคพึ่งอานิสงส์สหรัฐฟื้น

ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของจีนที่เพิ่งประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 7.5% สอดคล้องกับกระแสโดยรวมของทั้งภูมิภาคเอเชียที่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว

วอลล์สตรีต เจอร์นัล ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงหลายปีมานี้เศรษฐกิจภูมิภาคดังกล่าวพึ่งพาเงินร้อนจากฝั่งตะวันตกเป็นตัวจักรขับเคลื่อนการเติบโต แต่ตอนนี้เครื่องยนต์กำลังสำลักและมีแนวโน้มจะดับในไม่ช้า การปฏิรูปเศรษฐกิจที่ยังล่าช้าตลอดจนต้นทุนการกู้ยืมที่ขยับสูงขึ้นกำลังเป็นตัวถ่วงการลงทุน ขณะที่ตลาดการจ้างงานที่ยังอ่อนแอรวมถึงราคาสินทรัพย์ที่ผันผวนทำให้ผู้บริโภคเอเชียระมัดระวังการใช้จ่าย

ฝ่ายที่มองโลกในแง่ดีชี้ว่า ดีมานด์ที่เริ่มฟื้นตัวในสหรัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งออก ทว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเป็นเช่นนั้น

เฟเดอริก นิวแมนน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจเอเชีย จากเอชเอสบีซี มองว่า การเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นในสหรัฐจะไม่สร้างอานิสงส์ต่อเอเชียมากเท่ากับในอดีต ซึ่งช่วงเทคโนโลยีดอตคอมบูมในยุคก่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เคยช่วยดึงเศรษฐกิจเอเชียที่บอกช้ำจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ให้กลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในมะกันช่วงกลางทศวรรษ 2000 ตลอดจนการจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคักของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ช่วยค้ำจุนการขยายตัวในเอเชีย

แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐรอบปัจจุบันจะไม่เอื้อประโยชน์ให้เอเชียเหมือนครั้งก่อน ๆ ด้วยเหตุผล 2 ประการ

ข้อแรก การปรับตัวดีขึ้นของสหรัฐอาจมีส่วนให้การนำเข้าสินค้าจากเอเชียเพิ่มขึ้นก็จริง แต่อีกทางหนึ่งก็จะกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดลดขนาดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) ซึ่งเคยเป็นต้นตอของสภาพคล่องที่ไหลบ่าเข้ามายังเอเชีย และกดอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคนี้ให้ต่ำ

ช่วงหลายปีมานี้การเติบโตในเอเชียขับเคลื่อนด้วยการขยายสินเชื่อ แต่ขณะนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเห็นมีทิศทางบวก ทำให้เฟดส่งสัญญาณว่าเตรียมจะถอน QE3 ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมะกันที่พุ่งขึ้น ดึงดูดกระแสเงินที่เคยไหลท่วมเอเชียให้กลับไปยังสหรัฐ เศรษฐกิจเอเชียที่พึ่งพาการขยายเครดิตเป็นตัวกระตุ้นการเติบโต ย่อมได้รับผลกระทบหนัก ดีมานด์ของผู้บริโภคในเอเชียจะพลอยหยุดชะงักไปด้วย ในภาวะเช่นนี้เงินร้อนจากการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเป็นฟูกผืนเดียวที่เหลืออยู่ และช่วยบรรเทาความเสียหายได้บ้าง

แม้แต่จีนที่ได้รับการปกป้องโดยมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ก็ไม่มีภูมิคุ้มกันจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะเครดิตในตลาดโลก เพราะมาตรการควบคุมดังกล่าวมีรอยรั่ว ประกอบกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้น และอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ในรูปสกุลดอลลาร์ขยับขึ้น เงินทุนจึงไหลออกจากแดนมังกร

ถ้าธนาคารกลางจีน (PBOC) ไม่อัดฉีดสภาพคล่องเพื่อชดเชยกระแสเงินที่ไหลออกไป ซึ่งที่ผ่านมา PBOC แสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่ยื่นมือเข้าไปช่วย การไหลออกของเงินทุนก็จะซ้ำเติมภาวะขาดแคลนสภาพคล่องของสถาบันการเงินจีน

ข้อสอง ซึ่งสำคัญเท่า ๆ กับข้อแรกก็คือ ดีมานด์ที่สดใสขึ้นในสหรัฐจะไม่นำไปสู่ความคึกคักของสินค้าส่งออกจากเอเชีย เพราะการส่งออกสินค้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไม่ได้มีสัดส่วนในเศรษฐกิจเอเชียมากเท่าที่เคย โดยลดลงจาก 10% ของจีดีพีในปี 2549 เหลือ 5% ในปี 2555 ถึงแม้การส่งออกมายังสหรัฐจะขยายตัว แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่จะมากพอสำหรับการกระตุ้นการเติบโตในเอเชียให้พร้อมรับมือพิษภัยจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และสถานการณ์การเงินภายในประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น ภาคการผลิตในสหรัฐได้รวบรวมสรรพกำลังเพื่อต่อกรกับคู่แข่งจากฝั่งเอเชีย ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาต้นทุนด้านแรงงานในมะกันแทบไม่ขยับ ขณะที่ในเอเชียพุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่า แม้แต่ในเซ็กเตอร์เทคโนโลยีที่เคยถูกครอบงำโดยผู้ผลิตจากเอเชีย ก็ยังเกิดความเปลี่ยนแปลง อาทิ โมโตโรล่า ที่ประกาศว่าจะผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นต่อไปในสหรัฐ

อีกด้านหนึ่ง ราคาพลังงานที่ลดลงในสหรัฐเนื่องจากการบูมของเชลก๊าซหรือน้ำมันในชั้นหินดินดาน ก็เสริมให้มะกันมีความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ เอเชียยังคงต้องดิ้นรนหาแหล่งซัพพลายที่เพียงพอ อาทิ ต้องมีการปันส่วนกระแสไฟฟ้าช่วงหน้าร้อนในเกาหลีใต้เพราะพลังงานขาดแคลน

ปัจจัยข้างต้นเป็นสาเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตภาค อุตสาหกรรมในสหรัฐกับการส่งออกจากเอเชียที่เกี่ยวพันอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่ ทศวรรษ 1990 มีอันต้องสะบั้นลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นอกจากนี้การฟื้นตัวในสหรัฐส่วนใหญ่เป็นผลจากภาคธุรกิจซื้อสินค้าทุนมากขึ้น ไม่ใช่เพราะผู้บริโภคจับจ่าย การขยายตัวในสหรัฐรอบนี้จึงยากจะช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจเอเชีย

การปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังจึงเป็นทางออกเดียวของเอเชีย ต้องเลิกเสพติดการก่อหนี้เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนการกู้ยืมที่พุ่งขึ้น จีน เวียดนาม รวมถึงมาเลเซียควรลดการให้สิทธิพิเศษแก่รัฐวิสาหกิจ การกระตุ้นการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เคยได้รับการปกป้องโดยให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วม เป็นอีกแนวทางที่จะส่งผลดีกับประเทศอย่างอินเดีย และญี่ปุ่น ส่วนไทย และอินโดนีเซียสามารถกระตุ้นการเติบโตได้โดยลดการอุดหนุน เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในโครงการที่จำเป็นและเร่งด่วนกว่า

ที่มาของบทความ

(737)

Comments are closed.