รัฐบาลเพื่อไทยปิ๊งไอเดียผุดเมืองใหม่แนวไฮสปีดเทรน 4 สาย 36 สถานี กรมโยธาฯรับลูกวางผังเมืองใหม่ล็อกการพัฒนา เล็งทุกสถานีผุดเมืองครบทุกจังหวัดรองรับ ระบุพิกัดสเป็กห่างจากตัวเมืองรัศมี 8-10 กม. เจรจา สนข.ขยับที่ตั้งสถานีใหม่ ด้าน สนข.ลั่นคงไม่ได้ทุกสถานี ชี้ได้แค่สถานีปลายทาง และสร้างบนพื้นที่เปิดใหม่ “พิจิตร-พิษณุโลก-นครสวรรค์-อยุธยา-ปากช่อง-โคราช-เพชรบุรี-หัวหิน”
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ได้หารือร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ถึงแนวทางการพัฒนาเมืองรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงใน 4 สายทาง ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ 2.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย 3.กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์ และ 4.กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้บูรณาการร่วมกัน
โยธาฯขอจุดพลุเมืองใหม่ทุกสถานี
โดยกรม โยธาฯต้องการดูจุดที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงแต่ละสายเนื่องจากรัฐบาลมีนโย บายจะเพิ่มมูลค่าให้โครงการเพื่อให้คืนกลับมาเป็นรายได้ จึงให้กรมโยธาฯดูการวางผังเมืองและพัฒนาพื้นที่รอบสถานีและอาจจะมีเมืองใหม่ เกิดขึ้นในแนวโครงการด้วย
กรมโยธาฯมีแนวคิดจะสร้างเมืองใหม่ทุกสถานี และขอให้ขยับตำแหน่งสถานีห่างจากในเมืองออกไปอีกโดยกรมโยธาฯเสนอจะนำวิธีการ จัดรูปที่ดินมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี จะช่วยลดการเวนคืนที่ดินได้ เนื่องจากจะให้เจ้าของที่ดินมาร่วมพัฒนาตามที่ออกแบบไว้ในผังเมืองเหมือนที่ ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาแล้วโดยกรมโยธาฯจะกันพื้นที่ไว้ 6-10 ตารางกิโลเมตรในรัศมีรอบสถานีเพื่อพัฒนาที่ดิน
“เป็นไปได้ยากจะมีเมืองใหม่ทุกสถานี การขยับสถานีต้องดูหลายปัจจัย เช่น การเข้าถึงโครงข่ายคมนาคม การเติบโตของเมือง คงจะทำได้เป็นบางสถานีที่เป็นจุดที่ตั้งใหม่”
ส่วนสถานีที่เป็นสถานีรถไฟเดิมพื้นที่แคบมีจำกัด ยกเว้นมีที่ราชพัสดุจะสามารถขอใช้ที่ดินได้ ซึ่ง สนข.ได้หารือร่วมกับกรมธนารักษ์ขอใช้ที่ดินสร้างสถานีบางแห่งแล้ว เช่น สถานีปากช่อง ประมาณ 500 ไร่ สร้างสถานี 150 ไร่ ที่เหลือกรมธนารักษ์ให้เอกชนมาพัฒนาสร้างรายได้ระยะยาว
สนข.เน้นแค่สถานีปลายทาง
“แนวคิดเมืองใหม่นี้ที่ปรึกษาศึกษาโครงการให้ สนข.ใน 3 สายทาง คือสายเหนือ อีสาน และใต้ ในเฟสแรกมีกำหนดเบื้องต้นเป็นสถานีปลายทางคือพิษณุโลก โคราช หัวหิน ส่วนสายไประยองอยู่ที่การรถไฟกำหนด เช่นที่หัวหินสถานีเดิมอาจจะคับแคบ จะขยับมาทางชะอำหรือขึ้นไปทางปราณบุรีเพื่อสร้างเมืองใหม่ในอนาคต ส่วนสถานีระหว่างทางต้องดูศักยภาพก่อนว่าเหมาะหรือไม่”
นายจุฬากล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กรมโยธาฯจะให้ขยับตำแหน่งสถานีนครสวรรค์ห่างจากสถานีรถไฟเดิมไปอีก 2 กิโลเมตร เนื่องจากในบริเวณนี้มีที่ดินของกรมธนารักษ์อยู่กว่า 1,000 ไร่ ที่สามารถนำมาพัฒนาในอนาคตได้ ทั้งเชิงพาณิชยกรรมและสร้างเมืองใหม่
พิจิตร-ปากช่อง-นครสวรรค์ติดโผ
แหล่งข่าวจาก สนข.เปิดเผยว่า กรมโยธาฯจะให้ย้ายตำแหน่งทุกสถานีใหม่ทั้งหมดไปนอกเมืองประมาณ 8-10 กิโลเมตร เนื่องจากจะสร้างเมืองใหม่รองรับทุกสถานีในแนวรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 สาย แต่ยังไม่สรุป จะต้องหารือร่วมกับสภาพัฒน์เพื่อวิเคราะห์ถึงความคุ้มทุนในการพัฒนาอีก รวมถึงเสนอให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาด้วย จะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่ เพราะถ้าทำตามแนวคิดของกรมโยธาฯจะต้องรื้อเส้นทางใหม่ทั้งหมด
ทั้งนี้ ในหลักการของ สนข.ที่ให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษานั้น มีแนวคิดจะสร้างเมืองใหม่ให้พัฒนาควบคู่ไปกับรถไฟความเร็วสูงอยู่แล้ว เบื้องต้นเป็นพื้นที่สถานีที่สร้างใหม่ เช่น สถานีพิจิตร ปากช่อง นครสวรรค์ เพชรบุรี เป็นต้น ขณะที่กรมโยธาฯได้ทำโมเดลตัวอย่างเมืองใหม่นั้นมีประมาณ 3-4 จังหวัด ขนาดพื้นที่เมืองประมาณ 2,000-5,000 ไร่ ได้แก่ พิจิตร เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งที่อยุธยาจะมีให้เลือก 3-4 เมือง เช่น ภาชี สถานีอยุธยาเดิมที่อยู่ในเมือง เป็นต้น
เล็งนำจัดรูปที่ดินมาใช้
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า กรมไปเสนอแนวคิดให้ สนข.พิจารณาว่าการกำหนดสถานีนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเมืองและลด ปัญหาการจราจรนั้นควรจะอยู่ตรงไหนซึ่งกรมมองว่าควรจะขยับตำแหน่งสถานีออกจาก ตัวเมืองมาประมาณ 10 กิโลเมตรเพื่อจะได้มีพื้นที่ในการพัฒนาเมืองใหม่ขึ้น แต่ยังไม่สรุปชัดเจน เป็นเพียงหลักการเบื้องต้น
“เราจะดีไซน์เมืองให้ดูว่า เมืองใหม่ควรจะเป็นแบบไหน จะมีครบทุกอย่างเหมือนเป็นชุมชนหนึ่ง เช่น ที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น พร้อมกับเสนอนำรูปแบบการจัดรูปที่ดินมาดำเนินการ จะทำให้เจ้าของที่ดินไม่เสียประโยชน์ที่จะถูกรัฐเวนคืนที่ดิน แต่อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่”
เปิดตำแหน่งทุกสถานี 4 สายทาง
สำหรับจุดที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 สาย เบื้องต้นมี 36 สถานี สายกทม.-เชียงใหม่ 669 กิโลเมตร มี 12 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เฟสแรก “กทม.-พิษณุโลก” 382 กิโลเมตร มี 7 สถานี ได้แก่ 1.สถานีบางซื่อ อยู่ชั้น 3 ที่สถานีกลางบางซื่อ 2.สถานีดอนเมือง อยู่สถานีรถไฟเดิม 3.สถานีอยุธยา มี 2 ทางเลือก คืออยู่ที่เดิมและที่สถานีบ้านม้าห่างจากสถานีเดิมประมาณ 1-2 กิโลเมตร 4.สถานีลพบุรี อยู่ที่เดิม แต่จะเจาะอุโมงค์ลอดใต้ดิน 5.สถานีนครสวรรค์ มี 2 ทางเลือก คืออยู่ที่สถานีรถไฟเดิมหรือที่สถานีปากน้ำโพ 6.สถานีพิจิตร จะสร้างใหม่ห่างจากสถานีเดิมไปด้านขวา 1 กิโลเมตร และ 7.สถานีพิษณุโลก มี 2 ทางเลือก คืออยู่ที่เดิมหรือสร้างใหม่ที่กองบิน 46
สายกทม.-ปาดังเบซาร์ 982 กิโลเมตร เฟสแรก “กทม.-หัวหิน” 225 กิโลเมตร สร้างไปตามแนวรถไฟสายใต้เดิมจากบางซื่อ ผ่านนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และปลายทางที่หัวหิน มี 4 สถานี ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และหัวหิน จะมีสร้างสถานีใหม่ 1 แห่ง คือสถานีเพชรบุรีจะเบี่ยงออกมาอยู่บนถนนเพชรเกษมใกล้สถานีขนส่งจังหวัด
ส่วน “หัวหิน-ปาดังเบซาร์” ยังไม่ได้ศึกษา แนวโน้มจะจอดสถานีรถไฟเดิม มี 7 สถานี เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง หาดใหญ่ และปาดังเบซาร์
สายกทม.-หนองคาย 615 กิโลเมตร จะขนานไปกับแนวรถไฟสายอีสาน ช่วง “กทม.-บ้านภาชี” จะใช้แนวเขตทางร่วมกับสายเหนือ สำหรับที่ตั้งสถานีในเฟสแรก “กทม.-นครราชสีมา” 250 กิโลเมตร มี 3 สถานี
1.สถานีสระบุรี มี 2 ทางเลือก คืออยู่ที่เดิมหรือสร้างใหม่ที่ถนนวงแหวนรอบนอกตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล มีเวนคืนที่ดินเพิ่ม 150 ไร่ 2.สถานีปากช่อง จะสร้างสถานีใหม่บนที่ดินของกรมธนารักษ์ห่างจากสถานีรถไฟเดิมไปทางตัวเมืองโคราช 5 กิโลเมตร เนื้อที่ 500 ไร่ และ 3.สถานีโคราช มี 2 ทางเลือก คือสถานีรถไฟเดิมและสถานีภูเขาลาด จะมีเวนคืนที่ดินเพิ่ม 150 ไร่
ส่วนต่อขยาย “นครราชสีมา-หนองคาย” จะสร้างขนานไปกับแนวรถไฟเดิม มี 4 สถานี คือ 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีขอนแก่น ใช้สถานีเดิม แต่จะขยายพื้นที่เพิ่มมายังบนสนามกอล์ฟของการรถไฟฯมีอยู่ 200 ไร่ 3.สถานีอุดรธานี จะสร้างที่สถานีเดิมพื้นที่ 200 ไร่ หรือหาที่สร้างใหม่นอกเมือง และ 4.สถานีหนองคาย อยู่ตรงสถานีเดิมบนพื้นที่ 200 ไร่
สำหรับสายกทม.-ระยอง 221 กิโลเมตร จะสร้างขนานไปกับแนวรถไฟสายตะวันออก วิ่งจากมักกะสันตรงไปจนถึงปลายทางที่ระยอง มี 6 สถานี อยู่ตำแหน่งสถานีรถไฟเดิม ได้แก่ มักกะสัน ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา และระยอง
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ (1458)