จากผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทย โดยบริษัทมายด์แชร์ ประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคคนไทยมีความผูกพันและมีส่วนร่วมบนเฟซบุ๊ก ทั้งการกดไลก์, แชร์ลิงก์ให้เพื่อน และแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ บนหน้าเพจ มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
“ปิยนุช มีมุข” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สื่อดิจิทัล บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย จำกัด มีเดียเอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร ระบุว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหัวข้อที่ระบุว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยมีปฏิสัมพันธ์กับ “แบรนด์เพจ” หรือเฟซบุ๊กของสินค้าหรือแบรนด์ต่าง ๆ ถึง 73% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 59% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กคนไทยนั้นเต็มใจที่จะรับข้อมูล และการสื่อสารต่าง ๆ ของแบรนด์สินค้าผ่านเฟซบุ๊กมากกว่าประเทศอื่น ๆ
สิ่งนี้ได้สร้างโอกาสมหาศาลให้กับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่จะใช้ช่องทางนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์และติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมายได้อย่างลึกซึ้ง “เป็นการสื่อสารในระดับใหม่ที่ไม่สามารถทำได้ในโฆษณาทางทีวี 30 วินาที หรือโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์เต็มหน้า”
ดังนั้นเธอชี้ว่า สิ่งที่ต้องตั้งคำถามวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ว่าเฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่ เหมาะและมีประสิทธิภาพสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาหรือ แต่คือทำอย่างไรที่เจ้าของสินค้าต่าง ๆ จะสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างให้ผู้บริโภคมีความความสัมพันธ์และความผูกพันกับแบรนด์หัวหน้า ฝ่ายกลยุทธ์สื่อดิจิทัล บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้น วันนี้สังคมโซเชียลมีเดียต้องมีการสื่อสารแบบ “ทูเวย์ คอมมิวนิเคชั่น” คือแบรนด์เพจนั้น ๆ ต้องสร้างการสื่อสารที่โต้ตอบกันได้ระหว่างเจ้าของสินค้ากับกลุ่มผู้บริโภค โดยการสื่อสารนั้นต้องจริงใจและไม่เสแสร้ง ที่สำคัญต้องมีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับความสนใจของกลุ่มแฟนเพจ
“สิ่งนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ด้วยการสื่อกิจกรรมที่ทำผ่านภาษาง่าย ๆ ซึ่งจะช่วยซัพพอร์ตแคแร็กเตอร์ของแบรนด์ให้เด่นชัดขึ้น ผ่านการแชร์ความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึก และตัวตนของแบรนด์กลับมาที่ผู้บริโภค”
เธอชี้ว่า ด้วยการสื่อสารในโลกสังคมออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ผู้ชมจะหันมาฟังแบรนด์มากขึ้น รวมทั้งมีอารมณ์ร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ
“ในส่วนของแบรนด์ จำไว้ว่าเมสเสจ อะไรก็ตามที่เราใส่ลงไปในเฟซบุ๊ก ต้องมีความหมายและสำคัญด้วย อย่าเป็นเพียงแค่หนึ่งในหลาย ๆ แบรนด์เพจที่โพสต์อะไรเยอะแยะเพียงแค่ต้องการเติมพื้นที่ว่างของหน้าเพจให้ เต็มเท่านั้น แต่การสนทนาไม่ได้มีความหมายสำคัญอะไรกับผู้บริโภค”
ที่มา: prachachat.net (921)