รัฐใหญ่หัวหอกการพัฒนา โมเดลเศรษฐกิจใหม่อินเดีย

เศรษฐกิจที่กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วของทวีป “เอเชีย” นอกเสียจากประเทศจีน “อินเดีย” ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่ควรจะมองข้ามไป

อินเดียมีประชากรราว 1,220 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเสียเพียงแต่จีน แต่อินเดียก็ยังคงมีปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น การเติบโตที่ช้ากว่าเพื่อนบ้านขนาดเดียวกันอย่างจีน ที่อินเดียโตเพียง 5% ในปีที่ผ่านมาเท่านั้น ในขณะที่จีนกลับโตถึง 7.8%

มากกว่านั้น นิตยสารไทมส์ยังระบุอัตราการเติบโตของอินเดียโดยอยู่ที่ 5% ในปี 2555 นี้ เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545-2553 โดยข้อมูลจากเวิลด์แบงก์ชี้ว่า การเติบโตของอินเดียในช่วงปีดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% มาโดยตลอด และหากเทียบอัตราเติบโตกับขนาดประเทศแล้ว อินเดียเสมือนกับกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่จีนกลับโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้การพัฒนาของประเทศอินเดียในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะถูกนำโดยกลุ่มผู้ว่าการรัฐ (Chief Minister) สำคัญ ๆ อย่างรัฐคุชราต รัฐพิหาร และรัฐโอริสสา

ก่อนปี 2543 บรรดาผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ ในอินเดียได้ปล่อยให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างกรุงนิวเดลีแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมักจะมีการใช้เรื่องศาสนาและวรรณะมาเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อประโยชน์จนได้รับชัยชนะ แต่เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจจากเมืองหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของ มานโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่กร้าวว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียให้ก้าวไกลทันจีน ไม่เกิดผลเท่าที่ควร

ทำให้ผู้ว่าการรัฐหลายคนหันกลับมาพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ใส่ใจกับการกระตุ้นการลงทุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐ รวมไปถึงสร้างสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นให้กับคนอินเดียมากกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของอินเดียจะดูไม่ดีนัก แต่หากมองออกไปไกลจากกรุงนิวเดลีแล้วจะพบว่า ในรัฐต่าง ๆ ของอินเดียอย่างรัฐพิหาร ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกห่างจากกรุงนิวเดลี 1,100 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีประชากรมากกว่าไทยถึงประมาณ 40 ล้านคน แต่รัฐพิหารกลับมีตัวเลขการเติบโตที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11.3% นับตั้งแต่ปี 2548

ทั้งนี้ รัฐพิหาร รัฐที่ขึ้นชื่อว่ามีประชากรมากเป็นอันดับที่ 3 ในอินเดีย เดิมทีขึ้นชื่อว่าเป็นที่มีปัญหาอาชญากรรมจากกลุ่มอาชญากรต่าง ๆ ในอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่หลังจาก นายนิทิช กุมาร์ ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐในปี 2548 เขาก็ได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม โดยการระดมตำรวจเข้ากวาดล้าง รวมไปถึงจัดตั้ง Fast Track สำหรับศาลในการตัดสินเรื่องอาชญากรรมโดยเฉพาะ ส่งผลให้อัตราอาชญากรรมลดลง สวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งสูงขึ้น

เนื่องด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทำให้รัฐพิหารต้องเผชิญกับความเสียเปรียบในด้านการส่งออก

ดังนั้นนายกุมาร์จึงพุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายใน โดยการพัฒนาศักยภาพที่จุดเด่นของรัฐพิหาร นั่นคือหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์เพื่อใช้เพาะปลูก และในภาคอุตสาหกรรมก็มีการขยายตัวมากกว่าตัวเลขโดยรวมของอินเดียถึง 2 เท่า

ส่วน รัฐคุชราต ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ของผู้ว่าการรัฐอย่าง นายนาเรทรา โมดิ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกคาดหวังไว้ว่าจะเป็นตัวแทนของพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคภารติยะ ชนตะ ในการชิงชัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบริหารของ นายโมดิ คุชราตได้ถูกพัฒนาให้มีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรม อีกทั้งเมืองหลวงของรัฐ

อย่าง “อาห์เมดาบัด” ก็กลายเป็นอีกเมืองหนึ่งที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ควบคู่ไปกับเมืองเฉิงตู และเมืองฉงชิ่งในจีน ที่ก้าวขึ้นมาเป็นเมืองเศรษฐกิจไม่แพ้เซี่ยงไฮ้มากกว่า 40% ของรายได้ของรัฐคุชราตมาจากอุตสาหกรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตและส่งออกอย่าง บริษัท ทาทา มอเตอร์ส สัญชาติอินเดีย หรือกระทั่งบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่างฟอร์ด

ทั้งนี้ ผู้ที่ทำงานร่วมกับนายโมดิ รวมไปถึงเหล่านักธุรกิจต่างขนานนามเขาว่าเป็น CEO ที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ คุชราตยังกลายมาเป็นรัฐต้นแบบของรัฐต่าง ๆ ในอินเดีย ทั้งในเรื่องการจัดหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างไฟฟ้าที่เพียงพอ ระบบประปาที่สะอาด ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนความง่ายดายในการเปิดธุรกิจ

ด้าน รัฐโอริสสา รัฐทางทิศตะวันออกของอินเดียติดกับอ่าวเบงกอล ที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรโดยเฉพาะแร่เหล็ก และเป็นรัฐที่ขึ้นชื่อสำหรับผู้แสวงบุญชาวอินเดีย แต่ยังคงย่ำอยู่ในความยากจน จากปัญหาคอร์รัปชั่นที่มาพร้อมกับบริษัทข้ามชาติ โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในรัฐอยู่ที่ 900 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำสวนทางกับการเติบโตของรัฐซึ่งอยู่ที่ 8.5% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม นายนาวีน ปัทนาอิก ผู้ว่าการรัฐโอริสสา ตระหนักดีถึงปัญหา และพยายามหลีกเลี่ยงการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กเฉพาะด้าน โดยการออกมาตรการดึงดูดอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แร่เหล็ก แทนที่จะให้บริษัทเหล่านั้นขุดและส่งออกแร่

ในปัจจุบันโอริสสามีมูลค่าการลงทุนจากอุตสาหกรรมเหล็กสูงถึง 165,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากในเรื่องอุตสาหกรรมแล้ว นายปัทนาอิกยังพยายามลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ โดยการออกมาตรการดึงดูดบริษัทไอทีอินเดียให้เข้ามาวางรากฐานศูนย์กลางด้านซอฟต์แวร์ เพื่อให้รัฐโอริสสาเป็นเหมือนเมืองบังคาลอร์ รัฐกรณาฏกะ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องไอที

ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีความแตกต่างสูง ทั้งในด้านวัฒนธรรมและภาษา โดยในแต่ละรัฐอาจแตกต่างกันมากกว่าในทวีปยุโรปทั้งทวีปด้วยซ้ำ อีกทั้งเศรษฐกิจอินเดียก็ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นตลาดเดียวกันเหมือนกับสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม อินเดียจะต้องหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความแตกต่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหลอมรวมประวัติศาสตร์ของทั้งประเทศให้เป็นแรงขับดันให้ประเทศมีความเป็นพลวัตมากขึ้น หรือกระทั่ง

การบังคับใช้กฎหมายให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้โมเดลจากรัฐต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปมาปรับใช้ในลักษณะมหภาคและเป็นรูปธรรม

ที่มา: prachachat.net (871)

Comments are closed.