การลงทุนผ่านระบบ “Program Trading” หรือ “Robot Trading” ซึ่งเป็นชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์สำหรับการซื้อขายอัตโนมัติ ตามระดับราคาและเงื่อนไขที่กำหนดนั้น กำลังจะกลายเป็นกระแสการลงทุนรูปแบบใหม่ที่ขยายวงเข้าหา “นักลงทุนรายย่อย” กระเป๋าหนักมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม “นักลงทุนสถาบัน” เท่านั้น
เพราะรูปแบบการลงทุนดังกล่าว เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ดีทุกภาวะตลาด โดยขณะนี้มีโบรกเกอร์หลายรายที่กำลังเตรียมที่จะนำมาให้บริการ โดย “ภาววิทย์ กลิ่นประทุม” ที่ปรึกษาการลงทุนนักลงทุนรายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ผู้ให้บริการซื้อขายแบบ “Robot Trading” แก่นักลงทุนรายย่อยเจ้าเดียวของประเทศเวลานี้ ระบุว่า สาเหตุที่นักลงทุนรายย่อยสนใจใช้ระบบดังกล่าวมากขึ้น เป็นเพราะต้องการบริหารเงินลงทุนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมากนั้น ทำให้พอร์ตโดยรวมใหญ่ขึ้น จนต้องการรูปแบบการบริหารเงินที่ดีขึ้น
การที่นักลงทุนไว้วางใจให้ “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” แทนนั้น เป็นเพราะความโดดเด่นในด้าน “ความคงที่ของการตัดสินใจ” ซึ่งจะไม่อ่อนไหวตามอารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่กดดันในขณะนั้น โดยนักลงทุนจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งฝั่ง “ขาย” เช่น ขายเมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงสุด และทิ้งหุ้นทันทีเมื่อราคาปรับตัวลดลงตามนโยบายที่กำหนดในโปรแกรม รวมถึงฝั่ง “ซื้อ” ก็สามารถใช้กลยุทธ์เลือกลงทุนได้ในหุ้นที่ต้องการ หากราคาลงมาถึงเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในโปรแกรม ซึ่งถือเป็นวินัยการลงทุนที่ทำได้ยากหากเป็นการซื้อขายโดยใช้ “คน” เป็นผู้ตัดสินใจ
“นักลงทุนส่วนใหญ่จะอ่อนไหวกับการเทรด มักกอดหุ้นที่ขาดทุนโดยหวังว่าจะขึ้นในอนาคต และพอได้กำไรก็รีบขายไม่เก็บไว้ ซึ่งจะต่างกับหุ่นยนต์ที่ไร้อารมณ์ และซื้อขายตามโปรแกรมที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกหุ่นยนต์อาจจะสร้างผลตอบแทนไม่โดดเด่นนักเพราะกำลังสร้างฐาน แต่เมื่อผ่านไปพักหนึ่งผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตามสถิติที่เราทำมา พบว่าสามารถชนะดัชนีตลาดหุ้นได้ ส่วนจะชนะเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกโปรแกรมของนักลงทุนด้วยว่าจะ Aggressive หรือ Conservative จะเลือกหุ้นใหญ่หรือเล็กอย่างไร” ภาววิทย์กล่าวและว่าปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยที่จะใช้ “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” ของ บล.บัวหลวง ต้องใช้เงินลงทุนตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยขณะนี้มีลูกค้าที่ใช้งานรวมเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งยังเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของวอลุ่มซื้อขายทั้งหมด แต่คาดว่าในปี 2557 มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปถึง 5% ได้ หากนักลงทุนรายย่อยเข้าถึงการซื้อขายมากขึ้น
และเพื่อเป็นการตรวจสอบกระแสการลงทุนนี้ให้แน่ใจว่ากำลังจะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ได้รับความนิยม “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังโบรกเกอร์ต่าง ๆ ซึ่งพบว่าหลายบริษัทเริ่มมีการศึกษาและเตรียมความพร้อม เพื่อจะนำ “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” มาให้บริการนักลงทุนรายย่อยและสถาบันไทยแล้ว อาทิ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เป็นต้น รวมถึง บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการ “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” ให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยได้ในไตรมาส 3 นี้ เพื่อรองรับลูกค้าที่มีวอลุ่มเทรด 100 ล้านบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม แม้ “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” จะมีผลดีในแง่การสร้างกำไรที่ไม่มีอารมณ์มาเจือปนให้ผิดพลาด แต่ในอีกมุมหนึ่ง “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” ก็เคยสร้างความหายนะให้กับตลาดหุ้นอเมริกามาแล้ว ซึ่งเป็นวันแห่งความทรงจำของตลาดหุ้นทั่วโลก ที่รู้จักกันดีในชื่อ “Black Monday”
ในปี 1987 เป็นผลจากการที่ “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” ถล่มขายหุ้นออกจากตลาด เนื่องจากไม่ได้คำนวณแรงเทขายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้นักลงทุน และกองทุนต่าง ๆ ต้องแห่ทิ้งหุ้นตามกันไป กดดันให้ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลึกถึง 22.6% และใช้เวลาถึง 14 เดือนกว่าตลาดจะฟื้นตัว
หลังจากนั้น “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” ก็เขย่าตลาด Wall Street อีกครั้งในปี 2010 ด้วยสาเหตุเดิม คือ แรงเทขายของ “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” กดดันให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงถึง 1,000 จุด แต่ในรอบนี้มีผลต่อหุ้นเพียง 10 นาทีเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านี้ การใช้หุ่นยนต์เทรดหุ้นยังมีข้อน่ากังวลในเรื่องความปลอดภัยของนโยบายการลงทุนด้วย ซึ่งในกรณีที่มีผู้ล่วงรู้ถึงรูปแบบ ช่วงราคาการซื้อและขายของโปรแกรม ก็อาจซื้อหรือขายเพื่อดักทาง จนจะสร้างความเสียหายแก่นักลงทุนที่ใช้ระบบดังกล่าวได้ ดังนั้นการใช้หุ่นยนต์เทรดก็ต้องมีความมั่นใจสูตรคำนวณว่ามีประสิทธิภาพ และต้องสอดรับกับระบบการทำงานที่มีเสถียรภาพด้วย
ขณะที่ ม.ล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและทดลองโปรแกรมเทรดหุ้นอัตโนมัติ โดยในช่วงแรกจะเปิดให้บริการกับลูกค้าสถาบันต่างประเทศก่อน ตามทิศทางแนวโน้มในต่างประเทศที่เริ่มใช้งานมากขึ้น แต่ยังไม่ได้กำนหนดกรอบเวลาไว้แน่นอน เนื่องจากต้องมีการหารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อน เพราะยังมีความกังวลว่าโปรแกรมเทรดหุ้นอัตโนมัติอาจจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น เช่นเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนักจากการตั้งโปรแกรมเทรด โดยต้องดูว่าจะหาแนวทางป้องกันปัญหานี้อย่างไร
ในประเด็นดังกล่าว “ธวัชชัย พิทยโสภณ” ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยืนยันว่า กฎเกณฑ์กำกับดูแลในปัจจุบัน ได้ครอบคลุมถึงผู้กระทำผิดในหลายส่วนแล้ว แม้จะเป็นการซื้อขายผ่านหุ่นยนต์ แต่หากพบว่ามีข้อมูลรั่วไหล และพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดพลาดของ “ระบบงานที่ไม่รัดกุม” บล. กรรมการ หรือผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ก็อาจจะต้องรับโทษทางอาญาด้วยการเปรียบเทียบปรับ
แต่หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ไม่ชอบของบุคคล ก็จะเป็นความผิดทางอาญาที่ต้องกล่าวโทษต่อความผิดนั้นต่อไป
“ก.ล.ต.มีกฎเกณฑ์กำกับดูแลแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะรองรับการซื้อขายผ่านระบบหุ่นยนต์เทรดหุ้นได้ ขณะเดียวกันเราก็พยายามจะปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลให้สอดคล้องกับการซื้อขายให้มากขึ้น เพื่อขยายลงลึกไปสู่บุคลากรอื่น ๆ ที่อาจล่วงรู้ข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนด้วย”
ในอนาคต “หุ่นยนต์เทรดหุ้น” ต้องเข้ามามีบทบาทต่อตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักลงทุน ก็ควรรู้ให้เท่าทันการลงทุนที่เป็น “ดาบสองคม” ซึ่งอาจช่วยสร้างกำไร และเป็นตัวทำลายตลาดไปพร้อม ๆ กันก็เป็นได้
ที่มา: prachachat.net (1033)