2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศไทย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, กัมพูชา, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, เมียนมาร์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไน, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะก้าวเข้าสู่ประชาคม
เศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม
โดย มีเป้า หมายร่วมกัน ว่าการเปิดประตูสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEC) จะส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีฐานการผลิตรวมกัน มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยทางการผลิตอย่างเสรี เกิดความเป็นปึกแผ่น และสร้างอำนาจต่อรองทางด้านการค้า/เศรษฐกิจ ในเวทีการค้าโลกได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับมือกับการก้าวเข้าสู่การเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากนับเวลาต่อจากนี้แล้วเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปีเท่านั้น นับว่าไม่นานเลย และเมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยจะก้าวไปสู้กับเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อย่างไร เป็นคำถามที่อยู่ในใจหลายคน
ในภาครัฐบาลเองนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจใน เชิงรุกยังครึ่ง ๆ กลางๆ ไม่ชัดเจน ดังนั้นหากไทยเราจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คนไทยทุกคนควรจะต้องสนใจเรื่องนี้ เพราะ การเข้าสู่การเป็นประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะส่งผลไปทั่วทุกภาคส่วนของประเทศ และก่อให้เกิดพันธกรณีแก่ประเทศไทยที่จะต้องเข้าร่วมเจรจากับสมาชิกอาเซียน เพื่อเปิดเสรีสินค้าและบริการ รวมทั้งการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการเปิดเสรีการค้าบริการอาเซียน โดยมีเป้าหมาย หรือหลักเกณฑ์การเปิดตลาดอยู่ที่ “การลด” หรือ “เลิกกฎระเบียบ” หรือมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการและการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเปิดตลาดใน 10 สาขาบริการหลัก อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการวิชาชีพ บริการด้านสื่อสาร บริการโทรคมนาคม บริการด้านการท่องเที่ยว ตัวแทนนำเที่ยว
ดังนั้น ไม่ว่าเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานภาครัฐ จะต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน การจัดตั้งบริษัท รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และการออกกฏหมาย มาตรฐานต่างๆ ร่วมกัน เป็นต้น
ปี 2558 ที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
ก่อนจะเป็นเออีซี
สมาคม ประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยระยะแรกนั้นมีสมาชิกเริ่มแรกแค่ 6 ประเทศ คือ บรูไน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย ภายหลังมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 4 ประเทศ ได้แก่กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมาร์ และ เวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV
มี วัตถุประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาค นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และมีการรวมกลุ่มกันเพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น โดยการจัดทำเขตเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ในปี 2535
นับตั้งแต่การ ก่อตั้งอาเซียนเป็นต้นมา ประเทศสมาชิกต่างพยายามส่งเสริมการยึดมั่นในบรรทัดฐานร่วมกัน โดยอาเซียนให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจร่วมกัน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังจากการดำเนินการไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ได้บรรลุผลสำเร็จแล้วนั้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ณ ประเทศกัมพูชา ที่ประชุมได้เห็นชอบให้อาเซียนกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่การ เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community: EEC) โดยที่เดิมทีเดียวนั้นกำหนดการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เกิดขึ้น ภายในปี 2563 หรือ ค.ศ.2020 แต่ ต่อมาเมื่อมีการประชุมสุดยอดผู้นำอา เซียนครั้งที่ 12 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำอาเซียนได้ลงนามใน “ปฏิญญาเซบู” ว่าด้วยการเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เร็วขึ้นอีก 5 ปี เป็นภายในปี 2558 หรือ ค.ศ.2015 โดยเป้าหมายหลักของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1.การ เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันโดยการเปิดเสรีด้านสินค้า บริการ และการลงทุน ด้วยการลดหรือยกเลิกข้อจำกัดอันเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนในภาคบริการ ระหว่างกัน
2.การเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันโดยส่ง เสริมให้ประเทศสมาชิกมีกฎหมายด้านการแข่งขัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและสร้างวัฒนธรรมการแข่งขันของภาค ธุรกิจที่เป็นธรรมและการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
3. การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันโดยเน้นด้านการพัฒนา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs และการลดช่องว่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกและ
4. การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก
ดัง นั้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศรวมกันเป็นกลุ่มประชาคมอาเซียน จึงต้องมีพันธสัญญาที่ต้องดำเนินการ ประกอบไปด้วยเสาหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านวัฒนธรรม และ ด้านเศรษฐกิจ ใน ส่วนของ “เสาหลักด้านเศรษฐกิจ” นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” อย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีการกำหนด “พิมพ์เขียว” หรือ AEC Blueprint ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาซียนใช้เป็นพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันตามกรอบ เวลาที่กำหนด มีสาระสำคัญประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ
1) พันธกรณีที่ผูกพันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้อง “เปิดตลาด” สินค้าระหว่างกันมากขึ้น ตามความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกเก่า 6 ประเทศ เร่งทยอยลดอัตราภาษีสินค้าลงมาตั้งแต่ปี 2535 จนเหลือ 0% ไปแล้วประมาณ 8,000 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมาส่วน ประเทศ สมาชิกใหม่ของอาเซียน 4 ประเทศ หรือ CLMV ได้แก่ กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมาร์, และเวียดนาม มีกำหนดให้ทยอยลดภาษีสินค้าต่าง ๆ ลงให้เป็น 0% ภายในปี 2558 พร้อมกันนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดยังมีข้อผูกพันที่จะต้องลดมาตรการกีด กันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ให้หมดไปอีกด้วย
2) พันธกรณีการเปิดเสรีการค้าบริการ มีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกอาเซียนลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ด้วยการเปิดกว้างให้นักลงทุนอาเซียนสามารถเข้ามาลงทุนและถือหุ้นได้ในประเทศ สมาชิกอาเซียนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในสาขาบริการสำคัญ (Priority Integration Sector) ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ, สาขาสุขภาพ และสาขาการท่องเที่ยว ภายในปี 2553 การเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์ภายในปี 2556 และการเปิดเสรีสาขาบริการอื่น ๆ ที่เหลือทุกสาขาภายในปี 2558
3) พันธกรณีการเปิดเสรีการลงทุน ต้องการให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) ตลอดจนสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานได้อย่างเสรี รวมไปถึงการพัฒนาความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันมากยิ่งขึ้นพันธกรณี เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือ มีสินค้า/บริการหลายรายการที่ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ แต่ก็มีสินค้า/บริการ อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบปรับตัวก่อนที่อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวในที่สุด (หน้าพิเศษ AEC เปลี่ยนประเทศไทย)
ที่มา: http://www.prachachat.net (1059)