เอ่ยชื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ไม่มีใครไม่รู้จัก
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดของไทยก็ว่าได้ ไม่ใช่แค่เป็นะุรกิจของคนไทยเท่านั้น แต่ซีพีมีสถานะเป็นธุรกิจข้ามชาติ มีเครือธุรกิจหลากหลายสาขาอยู่ในหลายประเทศ แทบจะกระจายอยู่ทั่วโลกก็ว่าได้ นั่นเป็นเหตุให้ชื่อของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี ติดอันดับมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ร่ำรวยที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่พลาดที่จะติดอันดับเศรษฐีที่ร้อยต้นๆของโลกอีกด้วย
ปัจจุบัน ซีพีมีบริษัทในเครืออยู่นับร้อยบริษัท แบ่งธุรกิจหลักๆได้ 3 หมวดใหญ่ คือ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร กลุ่มธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม พูดง่ายๆ คือ ในแต่ละวันชีวิตเราต้องเกี่ยวข้องเป็นลูกค้าหรือใช้บริการทางใดทางหนึ่ง เพราะซีพีเป็นผู้ผลิตตั้งแต่ต้นทา่ง เริ่มจากอาหารสัตว์ ไปจนถึงอาหารคน แม้กระทั่งปลายทางอย่างร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น รวมไปถึงร้านไก่ย่างห้าดาว, เชสเตอร์ กริลล์, ซีพี เฟรชมาร์ท, ร้านทรูคอฟฟี่ และมือถือทรู ล้วนอยู่ในเครือซีพีทั้งสิ้น
นี่จึงไม่ใช่เรื่องเกินคาดหมายที่เครือซีพีจะเป็น “ครัวของโลก” ตามที่เจ้าสัวธนินท์ประกาศเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนเมื่อหลายปีก่อน เพราะในประเทศไทยหรือในเอเชีย คงเป็นตลาดที่เล็กเกินไปสำหรับซีพี
หากพลิกย้อนดูประวัติศาสตร์การทำธุรกิจของเครือซีพี จะเห็นได้ว่าเส้นทางกว่าจะมาเป็นวันนี้ไม่ได้ราบรื่น มีหลายธุรกิจที่ซีพีทำแล้วล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหารบัวบานที่ไม่เติบโตอย่างที่คิด ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นร้านอาหารไทยไทย แต่ถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี
ดังนั้นเมื่อเครือซีพีหันกลับมาให้ความสำคัญกับธุรกิจร้านอาหารอีกครั้ง ด้วยการลงทุนเริ่มแรกกว่า 60 ล้านบาท ในการซื้อสิทธิ์ร้านอาหารเบเกอรี่สัญชาติฝรั่งเศสมาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย จึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ร้านอาหารและเบเกอรี่ “พอล” เป็นกุญแจสำคัญของการเรียนรู้ที่ทำให้เครือซีพีผ่านพ้นประสบการณ์ที่ล้มเหลวไปสู่ความสำเร็จได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทำยอดขายได้งดงาม สามารถขยายสาขาได้เพิ่มขึ้น จนกระทั่งไปสู่การเปิดร้านอาหารภายใต้แบรนด์ของตัวเองได้อย่างที่ตั้งใจหรือไม่ เวลาเท่านั้น…จะเป็นเครื่องพิสูจน์ (1542)