ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค (ICAS) คืออะไร

ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค (ICAS)

          ระบบ ICAS ประกอบด้วย 2 ส่วน  โดยส่วนแรกทำหน้าที่ในการเรียกเก็บเงินตามเช็คระหว่างธนาคาร   และส่วนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการจัดเก็บข้อมูลและภาพเช็คซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยให้การค้นหาข้อมูลและภาพเช็คทำได้อย่างสะดวกและ รวดเร็ว

1.วัตถุประสงค์ของระบบ ICAS

  1.  เพื่อย่นระยะเวลาการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั่วประเทศให้เหลือ 1 วันทำการ ซี่งรวมถึงการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชี ที่ปัจจุบันต้องใช้เวลาในการเรียกเก็บ
    3-5 วันทำการ
  2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คของไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

2.นโยบายของ ธปท. ในการพัฒนาระบบ ICAS

          ธปท. ได้พัฒนาระบบ ICAS ภายใต้นโยบาย One-day Clearing;  One Cheque Clearing System;  และ One Clearing House  กล่าวคือ

                - One-day Clearing   ด้วยระบบ ICAS เป็นระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คด้วยภาพ ซึ่งไม่มีการขนส่งตัวเช็คในกระบวนการเรียกเก็บ  จึงทำให้ระบบ ICAS สามารถลดระยะเวลาในการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั่วประเทศให้เหลือเพียง 1 วันทำการได้

- One Cheque Clearing System  เมื่อใช้งานระบบ ICAS แล้ว จะทำให้ประเทศไทยสามารถรวมระบบการหักบัญชีเช็คจากปัจจุบันที่มี 3 ระบบงาน ได้แก่  ระบบการหักบัญชีเช็คเรียกเก็บระหว่างธนาคารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ระบบ ECS)   ระบบการหักบัญชีเช็คในต่างจังหวัด  และระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชี ให้เหลือเพียงระบบเดียว คือ ระบบ ICAS

- One Clearing House   การเรียกเก็บเงินตามเช็คด้วยระบบ ICAS ทำให้สามารถใช้ศูนย์หักบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว ในการทำหน้าที่หักบัญชีเช็คระหว่างธนาคารทั่วประเทศได้  เปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ต้องใช้สำนักหักบัญชีกว่า 80 แห่งทั่วประเทศในการดำเนินการที่กล่าว

3.แผนการดำเนินงานระบบ ICAS

          ธปท. มีกำหนดที่จะเริ่มใช้งานระบบ ICAS ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณเช็คสูงถึงร้อยละ 70 ของปริมาณเช็คทั้งประเทศ) เป็นลำดับแรกภายในปี 2555 หลังจากนั้นจะทยอยขยายผลการใช้งานไปในส่วนภูมิภาคจนครบทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2556  ซึ่งจะทำให้ระบบการหักบัญชีเช็คทั่วประเทศเป็นระบบเดียวและการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั่วประเทศสามารถทราบผลได้เพียง 1 วันทำการ

แผนการใช้งานระบบ ICAS กำหนดเวลา
- เริ่มใช้งานในเขต กทม. และปริมณฑล ภายในปี 2555
- ขยายผลการใช้งานครบทั่วทั้งประเทศ ภายในปี 2556

4.ประโยชน์ของระบบ ICAS

การใช้งานระบบ ICAS มีประโยชน์ต่อแต่ละภาคส่วนของประเทศไทย ดังนี้

4.1  ภาคธุรกิจและประชาชนผู้ฝากเช็ค

1)  สามารถเรียกเก็บและถอนใช้เงินตามเช็คทั่วประเทศได้ภายใน 1 วันทำการ ซึ่งรวมไปถึงการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามจังหวัดด้วย ซึ่งปัจจุบันต้องใช้เวลาในเรียกเก็บประมาณ 3-5 วันทำการ

2)   ขยายเวลาการรับฝากเช็คเพิ่มขึ้นประมาณ 1½ ชั่วโมง  จากปัจจุบันที่ธนาคารปิดรับฝากที่ประมาณ 13.00-14.00 น.  จะขยายเวลาเป็น 14.30 –15.30 น. หรือใกล้เวลาปิดทำการของธนาคาร

3)   ร่นกำหนดเวลาของธนาคารที่ให้ลูกค้าสามารถถอนใช้เงินตามเช็คที่ฝากได้เร็วขึ้นจากปัจจุบันที่ประมาณเวลา 13.00 -14.00 น. จะเร็วขึ้นเป็นประมาณ 12.00 น.

4.2  ภาคธนาคาร

1)  ลดต้นทุนในการขนส่งตัวเช็ค

2)  ลดความเสี่ยงที่เช็คอาจสูญหายในระหว่างกระบวนการเรียกเก็บ

3)  ช่วยลดภาระในการจัดเก็บข้อมูลและตัวเช็คของธนาคาร  โดย ธปท. จะเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลและภาพเช็คที่ ธ.สมาชิกสามารถเรียกใช้งานได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

4)  ช่วยให้เกิดนวัตกรรมด้านบริการทางการเงินใหม่ ๆ   เช่น  บริการแนบภาพเช็คที่สั่งจ่ายควบคู่กับรายงานแสดงการเดินบัญชีประจำเดือน (Bank Statement) หรือบริการตู้รับฝากเช็คอัตโนมัติซึ่งสามารถออกใบรับฝากที่มีรูปเช็คนำฝากปรากฎอยู่ด้วย  เป็นต้น

4.3  ระบบเศรษฐกิจโดยรวม     ช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของกระแสเงินในภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความรวดเร็วมากขึ้น

5.กระบวนการเรียกเก็บเงินตามเช็คในระบบ ICAS

          เริ่มจากลูกค้านำเช็คเข้าฝากที่ธนาคาร    ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บจะกราด (Scan) ภาพเช็คทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลของเช็คฉบับดังกล่าว ส่ง Online มาที่ศูนย์หักบัญชีของ ธปท.  เพื่อคัดแยกภาพเช็คและข้อมูลส่งต่อให้ธนาคารผู้จ่าย เพื่อตรวจสอบและอนุมัติตัดจ่ายเงินตามเช็คต่อไป

ในกรณีที่เช็คฉบับนั้นถูกปฏิเสธการจ่าย   ธนาคารผู้จ่ายจะแจ้งผลเช็คคืนทาง Online ส่งไปยังศูนย์หักบัญชีเพื่อแจ้งต่อไปยังธนาคารผู้เรียกเก็บ  หลังจากนั้นธนาคารผู้เรียกเก็บจะนำส่งตัวเช็คคืนเป็นตัวเช็คจริงพร้อมแนบใบแจ้งผลการคืนเช็คให้แก่ลูกค้าต่อไป

 

ทั้งนี้  ข้อมูลและภาพเช็คที่ส่งเข้าเรียกเก็บดังกล่าวจะถูกเก็บไว้ที่ระบบ ICAS ที่ศูนย์หักบัญชี ธปท.  เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานทางกฎหมายและกระบวนการทางศาลแทนตัวเช็คจริงต่อไป

 

กระบวนการเรียกเก็บเงินตามเช็คในระบบ ICAS
กระบวนการเรียกเก็บเงินตามเช็คในระบบ ICAS

6. มาตรฐานภาพเช็คที่ส่งเรียกเก็บในระบบ ICAS

          ภาพเช็คที่ส่งเรียกเก็บผ่านระบบ ICAS ต้องมีคุณสมบัติที่เอื้อให้ธนาคารผู้จ่ายสามารถตรวจสอบความสมบูรณ์ของเช็คและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายจากภาพเช็คได้อย่างชัดเจน รวมทั้งต้องมีขนาดของ File ภาพที่ไม่ใหญ่เกินไปเพื่อให้สามารถส่งผ่านระบบ Onlineได้อย่างรวดเร็ว

ธปท. ได้กำหนดให้เช็คที่จะส่งเข้าเรียกเก็บผ่านระบบ ICAS แต่ละฉบับ ต้องจัดทำเป็นภาพเช็คจำนวน 3 ภาพ  คือ  ภาพที่ 1 เป็นภาพ Grayscale ด้านหน้าของเช็ค  และภาพที่ 2 และ 3 เป็นภาพ Black & White ด้านหน้าและด้านหลังของเช็ค (รายละเอียดตามตารางด้านล่าง)

 

มาตรฐานภาพเช็คของระบบ ICAS

มาตรฐานภาพเช็คของระบบ ICAS

 

ตัวอย่างภาพเช็คตามมาตรฐานภาพเช็คของระบบ ICAS

ตัวอย่างภาพเช็คตามมาตรฐานภาพเช็คของระบบ ICAS

7. การรักษาความปลอดภัยบนตัวเช็ค

          การรักษาความปลอดภัยสำหรับเช็ค ประกอบด้วยการป้องกันการปลอมแปลงเช็คและการป้องกันการแก้ไขข้อความบนตัวเช็ค ดังต่อไปนี้

 7.1   การป้องกันการปลอมแปลงเช็ค

กระดาษที่ใช้พิมพ์เช็คต้องเป็นกระดาษ CBS 1 (London Clearing Banks Paper Specification No.1) และต้องมีลายน้ำกลาง (Common Watermark) ซึ่งเป็นลายน้ำที่มีรูปแบบตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และมีขนาดความกว้างและความสูงไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร ฝังอยู่ในเนื้อกระดาษและกระจายอยู่ทั่วไปบนตัวเช็ค โดยในเช็คแต่ละฉบับจะต้องมีลายน้ำกลางเต็มรูปอย่างน้อย 1 รูป และสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อยกขึ้นส่องกับแสงสว่าง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธนาคารผู้รับฝากเช็คในการตรวจสอบเช็คของธนาคารอื่นที่ลูกค้านำมาฝาก

ธนาคารผู้ออกเช็คสามารถใส่ลายน้ำที่มีรูปแบบเฉพาะของแต่ละธนาคารไว้ควบคู่กับลายน้ำกลางได้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมภายในของธนาคารผู้ออกเช็คเอง โดยลายน้ำดังกล่าวต้องไม่อยู่ติดหรือทับลายน้ำกลาง

รูปลายน้ำกลาง (Common Watermark) บนเช็ค
(สามารถมองเห็นได้เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง)

รูปลายน้ำกลาง (Common Watermark) บนเช็ค 

7.2   การป้องกันการแก้ไขข้อความบนตัวเช็ค

                   1.  กระดาษที่ใช้ในการพิมพ์เช็คจะต้องเป็นกระดาษ CBS 1 ประเภท Laser Grade กล่าวคือ เป็นกระดาษ CBS1 ที่มีการเคลือบผิวด้วยกรรมวิธีพิเศษเพื่อให้เกิดการยึดเกาะโทนเนอร์ (Toner) ได้ดี สามารถป้องกันการขูดลอก ลบ หรือแก้ไขข้อมูลที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์เลเซอร์ โดย ทิ้งร่องรอยให้เห็นได้อย่างชัดเจน

                   2.  ข้อความ / ลวดลายบนตัวเช็คที่พิมพ์ด้วยหมึกที่มีคุณลักษณะพิเศษ

                   3.  การใช้ลวดลาย / การออกแบบที่มีลักษณะพิเศษ

8. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบICAS

          ระบบ ICAS ใช้ Hashing 1/ (หรือ Digital Fingerprinting) และ Digital Signature 2/ในการควบคุมเรื่องความถูกต้องของข้อมูลเช็คและภาพเช็ค (End-to-end Data Integrity Control) รวมทั้งการพิสูจน์การทำธุกรรม (หรือ Non-repudiation) ของธนาคารผู้ส่งข้อมูลเช็คและภาพเช็คเข้าระบบ ICAS   นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยด้านอื่น ๆ  เช่น  การยืนยันตัวบุคคลก่อนการเข้าใช้งาน  การจัดการสิทธิ์  การจัดเก็บข้อมูลจราจร  การจัดเตรียมระบบและเครือข่ายสำรอง เป็นต้น เพื่อให้ระบบ ICAS ดำเนินการอย่างมั่นคงปลอดภัย

หมายเหตุ:
1/  Hashing เป็นกระบวนการในการแปลงข้อมูลตั้งต้น (input message) ผ่าน Hash Function ให้เป็น fixed-size string ที่เรียกว่า Hash Value ซึ่งคุณสมบัติของ Hash Function นั้นจะต้อง  1) ง่ายในการคำนวณ  2) ยากที่จะคำนวณค่าข้อมูลตั้งต้นจากค่า Hash Value  และ  3) ยากที่ข้อมูลตั้งต้นต่างกันจะได้ค่า Hash Value เท่ากัน

2/  Digital Signature คือ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูล (Data Integrity) รวมทั้งใช้ในการยืนยันการทำธุรกรรมของเจ้าของลายมือชื่อ (Non-repudiation)

9. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบ ICAS

กฎหมายที่รองรับการใช้งานระบบ ICAS มีทั้งสิ้น 3 ฉบับ กล่าวคือ

1.  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 21 ว่าด้วยเรื่องตั๋วเงิน หมวด 4 เช็ค ในมาตรา 987- 1000

กฎหมายดังกล่าวกำหนดเกี่ยวกับเช็ค เงื่อนไขและวิธีการออกเช็คให้ถูกต้อง รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของเช็ค ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง

2.  พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534

พ.ร.บ. ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมให้มีการออกเช็คโดยสุจริต หากมีการออกเช็คโดยทุจริตจะต้องได้รับโทษทางอาญา และมีการกำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน

3.  พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544  และพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2551

พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้มีการยอมรับข้อมูลและเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายได้

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวข้างต้นสามารถรองรับระบบ ICAS ได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่

10. สิ่งที่ต้องขอความร่วมมือผู้สั่งจ่ายเช็ค

          เพื่อให้การเรียกเก็บเงินตามเช็คในระบบ ICAS สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธปท. ใคร่ขอความร่วมมือจากผู้สั่งจ่ายเช็ค ดังนี้

                1.  การเขียนวันที่สั่งจ่ายบนตัวเช็ค  ควรกรอกข้อมูลในรูปแบบตัวเลขลงในแต่ละช่องที่กำหนด ตามรูปแบบที่ได้แนะนำไว้บนเช็ค คือ ววดดปปปป  เพื่อให้ธนาคารผู้เรียกเก็บและธนาคารผู้จ่ายสามารถใช้ระบบงานการอ่านภาพตัวเลขเพื่อแปลงเป็นข้อมูลไปใช้งานได้อย่างสะดวก

วันที่เช็ค

                  2.  ควรยกเลิกการใช้ ตราประทับ / ตรานูน / ตราสี เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค เนื่องจากระบบ ICAS ใช้เทคโนโลยีการเรียกเก็บเงินตามเช็คด้วยภาพ Grayscale และ Black & White ซึ่งเป็นภาพเฉดสีขาวดำ  จึงทำให้ธนาคารผู้จ่ายไม่สามารถตรวจสอบความนูนต่ำของพื้นผิว และความถูกต้องของเฉดสีตามเงื่อนไขของตราประทับได้  รวมทั้งความเข้มของสีตราประทับอาจบดบังลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คและข้อมูลสำคัญอื่นจนไม่สามารถตรวจสอบได้

ตัวอย่างภาพเช็คที่ใช้ตราประทับสี ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบเงื่อนไขสีในระบบ ICAS ได้
(เช็คต้นฉบับ)

(เช็คต้นฉบับ)

(ภาพ Grayscale ของระบบ ICAS)

(ภาพ Grayscale ของระบบ ICAS)

ตัวอย่างภาพเช็คที่มีตราประทับ ซึ่งรบกวนลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและข้อมูลสำคัญของเช็ค
(ภาพ Grayscale ของระบบ ICAS)

(ภาพ Grayscale ของระบบ ICAS)

(ภาพ Black & White ของระบบ ICAS)

(ภาพ Black & White ของระบบ ICAS)

(ภาพ Black & White ของระบบ ICAS)

(ภาพ Black & White ของระบบ ICAS)

(2472)

Comments are closed.