“ไลน์”รุกหนักอีคอมเมิร์ซไทย เพิ่มทีมรับลูกค้าพุ่ง30ล้านคน

“ไลน์” เพิ่มบุคลากรในไทยจาก 40 คน เป็นกว่า 100 คน รับธุรกิจ-ลูกค้าโต คาดสิ้นปีมีคนใช้งานทะลุ 30 ล้าน ติดอันดับ 2 เป็นรองแค่ญี่ปุ่นเปิดบริการใหม่ “ไลน์ ช็อป” ชิงเค้ก “อีคอมเมิร์ซ”เปิดเกมรุกอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบน โทรศัพท์มือถือ “ไลน์” (LINE) ซึ่งไม่ได้มีแค่โปรแกรม “แชต” หรือขาย “สติ๊กเกอร์” แต่ทยอยเปิดบริการใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเกมใหม่ที่จับมือค่ายการ์ตูนดัง “ดิสนีย์” อย่าง Disney Tsum Tsum ล่าสุด “เกมเศรษฐี” ที่กำลังมาแรงมาก เป็นต้น

นางสาววารดี วสวานนท์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด บริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เริ่มนำบริการเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อ 2 ปี แต่เพิ่งจดทะเบียนตั้งบริษัทเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น รองรับการขยายงานในหลายส่วนทั้งบริการใหม่ ๆ และการพัฒนาคอนเทนต์เป็นภาษาไทย เพื่อให้เหมาะกับคนในท้องถิ่นจึงประกาศรับสมัครทีมงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 40 คน คาดว่าจะเพิ่มเป็นกว่า 100 คน ภายในสิ้นปีนี้ในแต่ละส่วนงาน ทั้งกลุ่มงานการตลาด, กลุ่มงานดูแลเกม, ฝ่ายดูแลลูกค้า รวมถึงธุรกิจใหม่ เช่น ด้านอีคอมเมิร์ซ และกราฟิกดีไซน์ เป็นต้น โดยส่วนงานการตลาด และการดูแลลูกค้าจะมากที่สุด เพื่อรองรับกับลูกค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับการรับสมัครทีมงานได้เริ่มจากการมีแคมเปญ “Line Next” เฟ้นหานิสิตและนักศึกษาที่จบใหม่ เพื่อมาทำงานในสาขาประเทศไทย มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีระดับนานาชาติ

“ธุรกิจ เราโตเร็วมากจนต้องการคนเพิ่มเพื่อดูแลงานด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เป็นการเฟ้นหานักศึกษาจบใหม่ซึ่งได้มาจำนวนหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอต่องานที่ขยายเพิ่มขึ้น และฐานลูกค้ามากกว่า 20 ล้านไอดี นั่นเป็นสาเหตุให้เราต้องรับคนเพิ่มจำนวนมากอย่างน้อยปลายปีนี้เป็น 100 คน ถ้าการเติบโตของผู้ใช้ยังอยู่ในอัตรานี้ ภาระงานคงหนักเกินไป และรับผิดชอบได้ไม่ทั่วถึง ในฐานะที่เป็นบริษัทใหม่และธุรกิจใหม่ เราอาศัยความใหม่ของธุรกิจ และความน่ารักของบริการดึงดูดพนักงาน”

บริการ ของ “ไลน์” เริ่มต้นจากการทำแอปพลิเคชั่น “แชต” ที่มีเพียงตัวหนังสือต่อมาเพิ่มสติ๊กเกอร์, ข้อความเสียงกับวิดีโอคอล และบริการ “พรีเมี่ยมคอล” ให้โทร.ไปหาเบอร์โทรศัพท์อื่น ๆ ได้ (ค่าบริการแล้วแต่ประเทศ) และมีการสร้างคอมมิวนิตี้ภายในแอปเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ เช่น เกม และอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

“หลังจากนี้จะมีแอปใหม่ ๆ แนวนี้ออกมาเพิ่มเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการใหม่ และรักษาฐานผู้ใช้เดิมที่มีเกือบ 29 ล้านไอดีในไทย และจะเป็น 30 ล้านไอดี ภายในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมาย”สำหรับบริการที่สร้างรายได้มากที่สุดให้บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 50-60% ของรายได้ทั้งหมดคือ บริการเกม เพราะผู้ใช้ค่อนข้างสนุกกับการเล่น ทำให้มีอัตราการซื้อสินค้าภายในเกมค่อนข้างสูง ล่าสุดใน “เกมเศรษฐี” ที่มีการซื้อไอเท็มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเล่นเกม ซึ่งบริษัทจะใช้กลยุทธ์นี้ต่อไปในการให้บริการเกม กล่าวคือเปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรี แต่มีรายได้จากการขายไอเท็ม ปัจจุบันมีเกมที่ให้บริการกว่า 70 เกม

“เราค่อนข้างจริงจังกับการทำ ตลาดเกม เพราะเริ่มต้นจากความสำเร็จของเกมต่าง ๆ ที่เราสร้างเอง เช่น Line Pop และ Line Bubble ต่อด้วยเกมที่ร่วมกับบริษัทเกมสตูดิโอต่าง ๆ เช่น Line Cookie Run และ Line Let s Get Rich หรือเกมเศรษฐี จึงวางงบประมาณด้านการตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อดึงดูดผู้ใช้เข้ามาเล่น ทั้งการลงโฆษณาผ่านสื่อทั่วไป มีพรีเซ็นเตอร์ จัดอีเวนต์ชิงรางวัล เป็นต้น โดยเกมคุกกี้รันมียอดดาวน์โหลดเกิน 10 ล้านครั้ง ขณะที่เกมเศรษฐีใกล้เคียง 10 ล้านครั้งแล้ว”

รายได้ถัดมาเป็นการจำหน่าย “สติ๊กเกอร์” และการเปิด “ออฟฟิเชียล แอ็กเคานต์” ของหน่วยงานต่าง ๆ (มี 154 ราย และทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง) โดยส่วนแรกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากมีการออก Line Prepaid Card หรือบัตรเติมเครดิต เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา วางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด และร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ รวมถึงผู้ให้บริการบัตรเติมเงินเปิดช่องทางใหม่ให้ผู้ใช้ซื้อสติ๊กเกอร์ได้ จากเดิมผูกอยู่กับบัตรเครดิตสุดท้ายเป็นบริการด้าน “อีคอมเมิร์ซ” ได้แก่ Line Hot Brand กับ Line Hot Deal ที่อยู่บนออฟฟิเชียล แอ็กเคานต์ ซึ่งนำเสนอสินค้าราคาพิเศษที่ทำร่วมกับแบรนด์ดัง และเว็บดีลต่าง ๆ อีกส่วนคือ Line Shop เป็นอีกแอปพลิเคชั่นที่ให้ดาวน์โหลดต่างหาก เปรียบเป็น “มาร์เก็ตเพลส” ที่เปิดให้ผู้ใช้สร้างร้านค้าได้ฟรี “ไลน์” มีผู้ใช้บริการทั่วโลกกว่า 490 ล้านคน ใน 230 ประเทศ โดยไทยเป็นประเทศที่มีฐานคนใช้มากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากญี่ปุ่นที่มีมากกว่า 50 ล้านไอดีและเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีคนดาวน์โหลดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มฟรีแอปพลิเคชั่นบนแอปสโตร์ใน 60 ประเทศ

แหล่งข่าวในธุรกิจ ไอทีเปิดเผยด้วยว่า ไลน์ยังจะมีบริการใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดฐานเดิม และเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ต่อเนื่อง โดยกำลังมองการสร้างคอมมิวนิตี้ในแบบเดียวกับเว็บบอร์ด “พันทิป” ได้รับการยอมรับด้วย

ก่อนหน้านี้ นายจินวู ลี ผู้อำนวยการ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดสำนักงานในไทยแสดงถึงการให้ความสำคัญกับตลาดไทย โดยนโยบายหลักคือการปรับใช้กลยุทธ์ให้เหมาะกับคนในท้องถิ่น ทั้งการเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำในประเทศไทย การแปลภาษา และบริการต่าง ๆ เป็นภาษาไทย เป็นต้น

Cr.http://www.prachachat.net (546)

Comments are closed.