เนื่องด้วยตอนนี้มีคนไทยจำนวนมาก นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น อีกทั้งจำนวนผู้ประกอบการที่ค้าขายสินค้าทางออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
และมีเหตุการณ์การคดโกงการซื้อสินค้าทางออนไลน์เกิดขึ้น โดยล่าสุดเกิดกรณีการสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าอย่างตุ๊กตาเฟอร์บี้ (Furby) ผ่านทาง Social Media
ดังนั้นทางสมาคมผู้ประการอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) จึงได้มีคำแนะนำในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
คำแนะนำการซื้อสินค้าทางออนไลน์อย่างไรให้มั่นใจ
1. หากเจอสินค้าที่ราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดมากๆ จนผิดสังเกต ให้ตรวจสอบกับผู้ซื้อให้มั่นใจเสียก่อน อย่าเห็นแก่ของราคาถูกและรีบโอนเงินไปให้ก่อน เพราะผู้ร้ายมักตั้งราคาสินค้าให้ถูกกว่าท้องตลาด เพื่อโน้มน้าวให้คุณสนใจและซื้อ
2. หลีกเลี่ยงการจ่ายเงินจำนวนมาก ๆ ให้กับคนที่เราไม่เคยซื้อของด้วยมาก่อน หากต้องการทำจริง ขอให้ไปเจอหน้า แล้วมอบเงินให้กันดีกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่ ผู้ร้ายมักหลีกเลี่ยงการพบหน้ากันจริง ๆ จะมีเทคนิคการโน้มน้าวให้คุณโอนเงินไปให้ก่อนจึงควรระมัดระวัง
3. เมื่อพบหน้าในกรณีที่ได้พบหน้ากันจริงให้ขอเอกสารยืนยันการซื้อ หรือติดต่อ เช่น สำเนาบัตรประชาชน หรือเอกสารยืนยันการซื้อสินค้า หรือขอถ่ายภาพของผู้ขายไว้
4. ทดลองสั่งซื้อของจำนวนน้อย ๆ ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ค้าคนนั้น ส่งของจริง และมีตัวตนจริงซึ่งในรายที่ต้องการคดโกงจะพยายามให้คุณสั่งของคราวละมาก ๆ ต้องระมัดระวัง
5. อย่าไว้ใจแค่ social network ของผู้ขาย เพราะบางคนมีหลายบัญชีผู้ใช้ พยายามขอบัญชีผู้ใช้งานจริงที่ใช้ในการติดต่อ ทำให้สามารถตรวจสอบ กลุ่มเพื่อนหรือ ผู้ติดตาม และพฤติกรรมของการใช้งานจริงได้ โดยถ้าผู้ขายผ่าน social network มีความจริงใจต้องยินดีในการให้บัญชีผู้ใช้งานจริงนั้น
6. ควรตรวจสอบว่า มีชื่อจริง นามสกุลจริง ของเจ้าของร้านแสดงอยู่หรือไม่ หากมีชื่อจริง หรือเลขบัญชีธนาคารที่ต้องโอนเงินชำระค่าสินค้าให้ ควรค้นหาตรวจสอบชื่อ นามสกุลใน Google เสียก่อนก่อนว่ามีประวัติอย่างไรมาบ้าง เพราะหากเป็นชื่อหรือบัญชีที่เคยคดโกงมาก่อน ก็อาจจะเจอคนอื่น ๆ แสดงความเห็นไว้ในที่อื่น ๆ เช่นกัน และหากเป็นบัญชีธนาคารในรูปแบบบริษัทหรือนิติบุคคล ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
7. ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ ว่าชื่อเว็บนี้ตั้งมานานแล้วหรือไม่ สำหรับ .com ตรวจสอบได้ที่ http://dawhois.com สำหรับชื่อเว็บที่ลงท้ายด้วย .th ตรวจสอบได้ที่ http://thnic.co.th/whois หากเว็บที่เปิดมานานแล้ว เกิน 6 เดือนขึ้นไป ก็จะมีความน่าเชื่อมากกว่าเว็บที่เพิ่งเปิดมาเพียงไม่กี่เดือน เพราะส่วนใหญ่เว็บที่หลอกลวงจะเปิดได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
8. หากเป็นผู้ที่ขายกับผู้ให้บริการที่มีชื่อเสียงก็จะมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง เพราะผู้ให้บริการจะมีการตรวจสอบร้านค้ามาก่อน
9. ตรวจสอบการพูดคุยและโต้ตอบกันก่อนหน้านี้ ของผู้ขายหรือเว็บนั้น ๆ เช่น ในเว็บบอร์ด หรือ social network ดูว่ามีคนเข้าไปเขียนตอบอะไรบ้าง หรือกระทู้ล่าสุดที่ตอบคือเมื่อไรเพราะหากคำถามถูกทิ้งไม่ได้ตอบไว้นานจะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า และต้องตรวจสอบว่ามีผู้เคยได้รับสินค้าแล้วหรือไม่ด้วย เพราะจะสามารถตรวจสอบตัวตนของเจ้าของนั้นได้ และควรระวังบัญชีผู้ใช้ ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่
10. ตรวจสอบดูความใหม่ของสินค้าหน้าเว็บไซต์ และการอัพเดทเว็บไซต์ หากเว็บไซต์มีการอัพเดทเป็นประจำ เช่นมีสินค้าใหม่ ๆ , มีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น การเปลี่ยนแปลงข่าวสารหน้าเว็บเป็นประจำ ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าของร้านดูแลหน้าเว็บไซต์เป็นประจำ ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น
11. ตรวจสอบดูว่ามีลูกค้าที่เคยซื้อสินค้ากับร้านนี้หรือไม่ ลองตรวจสอบทางเว็บบอร์ดของทางร้าน หากมีหรือลองอีเมล์ติดต่อไปหาคนที่เคยซื้อไป ว่าบริการของร้านค้าเป็นอย่างไรบ้าง เราจะได้มั่นใจมากขึ้น
12. ตรวจสอบเบอร์ติดต่อของร้านค้าที่ หากมีเบอร์ที่เป็น 02 หรือ เบอร์บ้านจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะมีที่อยู่หลักแหล่งแน่นอน ในเว็บไซต์ควรมีที่อยู่ของธุรกิจแสดงอยู่ เพื่อบ่งบอกว่าร้านค้าหรือเจ้าของร้านอยู่ที่ไหน จะดีกว่าเว็บไซต์ที่ไม่แสดงข้อมูลที่อยู่จริง
13. หากเว็บไซต์นั้น ๆ มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ก็จะน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยและตรวจสอบได้ที่ http://www.dbd.go.th/edirectory
14. สำหรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหากร้านค้ารองรับถ้ามีปัญหา เราสามารถดึงเงินกลับได้เพราะเป็นชำระเงินแบบ “เครดิต” ซึ่งแตกต่างกับการจ่ายเงินสด หรือโอนเงิน เพราะหากจ่ายไปแล้ว แล้วผู้ขายเบิกเงินไป ก็ยากที่จะไปเอาเงินคืน
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการค้าออนไลน์ในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ
1. ออกแบบหน้าร้านออนไลน์ของท่านให้ดูเป็นมืออาชีพ แสดงที่อยู่ติดต่อชัดเจน ส่วนใหญ่จะมีหน้าเว็บไซต์ที่เรียกว่า “ติดต่อเรา” หรือ ‘contact us’ มีแผนที่ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ ถ้ามีเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (เบอร์บ้าน) จะแสดงถึงการมีหลักแหล่งที่อยู่ที่น่าเชื่อถือมากขึ้น
2. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่มากเพียงพอ ทั้งข้อมูลและรูป แสดงราคาที่ชัดเจน ตั้งราคาอย่างมีเหตุผล ถ้าราคาต่ำมากกว่าท้องตลาดแม้จะเป็นสินค้าเดียวกัน ต้องมีการอธิบายที่เหมาะสม
3. มีหน้าแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ขายให้มากขึ้นอีกด้วยหน้าเว็บไซต์ที่เรียกว่า “เกี่ยวกับเรา” ให้แสดงประวัติความเป็นมาของผู้ขาย เช่น รูปร้านค้า offline (ถ้ามี) ประวัติการทำธุรกิจพร้อมรูปในอดีตถึงปัจจุบัน (ถ้ามี) พร้อมทั้งแสดงเครื่องหมายการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของท่าน (Certificated) เช่น เครื่องหมายแสดงความเป็นสมาชิกของสมาคม ชมรมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของท่าน เช่น เป็นสมาชิกลำดับที่ a ของสมาคมโรงแรมไทย เป็นต้น
4. ในข้อมูล เกี่ยวกับเรา สามารถแสดง ภาพออฟฟิศ ทีมงาน ผู้บริหาร พนักงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมีตัวตนอยู่จริงของธุรกิจออนไลน์นั้น ๆ
5. จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งจะได้เครื่องหมายรับรอง Registered และ Verified ตามลำดับขั้น
6. ให้ข้อมูลตัวอย่างลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยคัดเลือกลูกค้าที่ได้รับความเชื่อถือยอมรับ มีชื่อเสียงทั่วไปมาแสดง (ถ้ามี) หรือเป็นข้อคิดเห็น บทสัมภาษณ์จากลูกค้าทั่วไปที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับท่านอย่างเป็นความจริง ดูน่าเชื่อถือ แสดงรูป ชื่อ หรือองค์กร ของผู้ให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจน(ถ้ามี)
7. มีเงื่อนไขและนโยบายการใช้บริการที่ชัดเจน เช่น นโยบายการเปลี่ยนคืนสินค้า นโยบายการคืนเงิน นโยบายการจัดการกรณีสินค้าชำรุดระหว่างการจัดส่ง นโยบายการจัดการกรณีไม่ได้รับความพึงพอใจจากการใช้สินค้า ฯลฯ ผู้ประกอบการออนไลน์ที่มีการแสดงเงื่อนไขและนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ จะแสดงถึงความจริงจังในการทำธุรกิจและการบริหารจัดการกับลูกค้าจำนวนมากตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน
8. หากมี บัญชีธนาคารในรูปแบบบริษัท สำหรับการรับชำระเงิน จะได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่า บัญชีชื่อบุคคลธรรมดา
9. ดูแล Webboard อย่าให้มี spam เข้ามาโพสต์ เช่น ขายตรงอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของท่าน มีการตอบ Webboard อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อแนะนำของทางสมาคมผู้ประกอบการณ์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องการเห็นการค้าขายทางออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ www.ThaiECommerce.org
ที่มา: www.sanook.com (1124)