เมื่อสมาร์ทดีไวซ์อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเลตขายดีมากขึ้น ตลาดที่เติบโตตามไปด้วยเป็นเงาตามตัวคือ “แอปพลิเคชั่น” ที่จะเข้าไปเพิ่มมูลค่าและความสามารถให้กับอุปกรณ์พกพาเหล่านี้ฉลาดขึ้น แน่นอนว่าทำให้มันกลายเป็นช่องทางรายได้สำคัญของแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เจ้าของระบบปฏิบัติการทั้งหลายด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “ไอโอเอส” ของแอปเปิล หรือ “แอนดรอยด์” ของยักษ์ “กูเกิล”
ล่าสุด “แอปเปิล” ออกมาเปิดเผยตัวเลขรายได้บน “แอปสโตร์” ระบุว่า มีมูลค่ามากแตะหลักหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ฟากคู่แข่งตัวกลั่น “กูเกิลเพลย์” บนระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” ก็ไม่น้อยหน้า ปั๊มรายได้ไล่ตามมาติด ๆ เช่นกัน
โดย “เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล” รายงานว่า นอกจากยักษ์แอปเปิลจะทำยอดขายไอโฟนและไอแพดได้มากมายมหาศาลในปี 2556 ที่ผ่านมา อีกหนึ่งขุมทรัพย์ที่ทำรายได้สำคัญคือ กองทัพ “แอปพลิเคชั่น” โดย “แอปเปิล” ออกมาประกาศตัวเลขรายได้จาก “แอปสโตร์” อย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาว่า บริษัทสามารถจำหน่ายแอปพลิเคชั่นทั้งปีเป็นมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
หากวัดจากสัดส่วนรายได้ที่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นต้องจ่ายให้แอปเปิลในสัดส่วน 30% นั่นหมายความว่า แอปเปิลน่าจะมีรายได้มากถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากแอปสโตร์ในปีที่ผ่านมา และตัวเลขดังกล่าวน่าจะถือเป็นผลกำไรเกือบทั้งหมดด้วย
มูลค่ายอดขายผ่าน “แอปสโตร์” เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวงจรธุรกิจที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ “ไอโฟนและไอแพด” โดยแท้ เพราะเมื่อใดที่ลูกค้าของแอปเปิลซื้อ “แอปพลิเคชั่น” หรือจ่ายเงินซื้ออะไรบางอย่างใน “แอปสโตร์” พวกเขาจะยิ่งผูกพันกับแพลตฟอร์ม “ไอโอเอส” และยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะซื้อผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลต่อไปในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขรายได้จาก “แอปสโตร์” เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ หากเทียบกับรายได้จาก “ไอโฟน” ของแอปเปิลเมื่อปีที่แล้ว (ปิดปีงบประมาณในเดือนกันยายน) มีมูลค่าประมาณ 91,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เม็ดเงินจาก “แอปสโตร์” เติบโตสูงมากหากเทียบกับเม็ดเงินจากธุรกิจอื่นของแอปเปิลที่เริ่มชะลอตัวลง
ผู้บริหาร “แอปเปิล” ให้สัมภาษณ์ในปีที่ผ่านมาว่า เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่ “แอปสโตร์” ทำยอดขายได้ดีที่สุด โดยร้านค้า “แอปพลิเคชั่นออนไลน์” แห่งนี้สามารถสร้างรายได้ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำยอดดาวน์โหลดได้เกือบ 3,000 ล้านครั้ง
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2551 “แอปเปิล” ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า นักพัฒนา “แอปพลิเคชั่น” สามารถสร้างรายได้ถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก “แอปสโตร์” จึงสามารถตีความได้ว่า ยอดขายแอปทั้งหมดน่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ย้อนไปก่อนหน้านั้น เมื่อคราวที่ “แอปเปิล” เปิดตัวไอโฟนในปี 2550 ในเวลานั้น “สตีฟ จ็อบส์” อดีตซีอีโอ “แอปเปิล” ยังลังเลอยู่ว่าควรให้นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นอิสระเป็นคนเขียนโปรแกรมสำหรับใช้งานบน “ไอโฟน” หรือไม่ เนื่องจากกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหากับการใช้ฟังก์ชั่นหลัก ๆ ของ “ไอโฟน”
อย่างไรก็ตาม “แอปเปิล” ได้เปลี่ยนทิศทางธุรกิจในอีกปีถัดมา และเปิดตัว “แอปสโตร์” อย่างเป็นทางการ จนกลายเป็นแหล่งขายแอปพลิเคชั่นที่กรุยทางสู่ยุคใหม่ของการพัฒนาซอฟต์แวร์
ในช่วงที่ “แอปสโตร์” เพิ่งเปิดตัวหมาด ๆ นักพัฒนาจำนวนมากต่างพากันเปิดตัว “แอปพลิเคชั่น” บนระบบปฏิบัติการ “ไอโอเอส” เป็นอันดับแรก เนื่องจากในเวลานั้นแอปเปิลถือเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟน ทำให้แอปเปิลถือไพ่เหนือกว่าสมาร์ทโฟน “แอนดรอยด์” จากบริษัทคู่แข่งอย่างกูเกิล
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวกำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดของระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
บริษัทวิจัยตลาดแอปพลิเคชั่น “ดิสติโม”เปิดเผยข้อมูลเมื่อปีที่แล้วว่า รายได้แอปพลิเคชั่นบนกูเกิลเพลย์เริ่มจี้แอปสโตร์ขึ้นมาทุกที โดยรายได้รวมของแอปพลิเคชั่นบนกูเกิลเพลย์ (เฉพาะแอปยอดฮิต 200 อันดับแรก) ทั่วโลกในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีมูลค่าเฉลี่ยวันละ 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รายได้รวมของฝั่งแอปสโตร์มีมูลค่าเฉลี่ยวันละ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ
สิ่งที่น่าสนใจคือ หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2555 จะพบว่ารายได้รวมบนกูเกิลเพลย์ มีมูลค่าเฉลี่ยต่อวันเพียง 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับแอปสโตร์ที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อวันมากถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ
ถึงแม้ข้อมูลจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจะระบุว่า แอปเปิลยังคงเป็นผู้นำในแง่มูลค่าการสร้างรายได้จากแอปพลิเคชั่น โดยน่าจะกินสัดส่วนตลาดประมาณ 63% ส่วนกูเกิลเพลย์ประมาณ 37% แต่ “ดิสติโม” ระบุว่า แอปพลิเคชั่นบางตัวบนแอนดรอยด์เริ่มมียอดการดาวน์โหลดใกล้เคียงกับเวอร์ชั่น “ไอโอเอเอส” บนแอปสโตร์ ซึ่งศักยภาพการสร้างรายได้ของ “แอนดรอยด์” อาจทำให้นักพัฒนาหันเหความสนใจไปหาแพลตฟอร์มของกูเกิลมากขึ้น ซึ่งแอปเปิลคงไม่อยากให้นักพัฒนาแห่ไปพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” โดยเฉพาะอย่างแน่นอน
“ยีน มันสเตอร์” นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยตลาดไปเปอร์ แจฟเฟร่ย์ แสดงความเห็นว่า คุณภาพและความสามารถของแอปพลิเคชั่นระหว่างระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอ นดรอยด์ไม่มีความแตกต่างกันอีกต่อไปหากวัดจากคะแนน”แอปพลิเคชั่น” ยอดนิยม 200 อันดับแรก (ทั้งแบบเสียเงินและแบบฟรี) บนระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์จะพบว่า คะแนนเฉลี่ยของแอปทั้งสองระบบปฏิบัติการแทบจะเท่ากัน และมีความแตกต่างกันเพียงนิดเดียว
“สมรภูมิสำคัญต่อจากนี้จะเป็นการนำเสนอบริการเฉพาะบนแพลตฟอร์มแต่ละตัวเช่นระบบผู้ช่วยส่วนตัวที่สั่งการด้วยเสียงอย่าง Siri ของแอปเปิล หรือระบบผู้ช่วยตอบทุกคำถามอย่าง Google Now ที่คอยแนะนำและคาดการณ์ข้อมูลที่ผู้ใช้งานน่าจะต้องการต่อจากนี้”
“แอปเปิล” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยอดขายในแอปสโตร์ของบริษัทได้แรงผลักดันจากแอปพลิเคชั่นเกม Heads Up! ของ Ellen DeGeneres, แอปสุขภาพ moves calorie counter ของบริษัท ProtoGeo Oy, แอปแต่งรูป Afterlight ของบริษัท Simon Filip และแอปเกม Impossible Road ของ Kevin Ng
นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชั่นที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจมากเป็นอันดับต้น ๆ อีกไม่น้อย เช่น Candy Crush Saga, Puzzle & Dragons และ Minecraft ซึ่งส่วนใหญ่มีนักพัฒนาจากทั่วโลก
ปัจจุบันแอปสโตร์มีแอปสำหรับไอโฟน, ไอแพด และไอพอด ทัช มากกว่า 1 ล้านตัว และมีประเภทโปรแกรมหลากหลายชนิด ตั้งแต่ข่าว, เกม, กีฬา, การท่องเที่ยว และอื่น ๆ อีกมากมาย
(1515)