ปรากฏการณ์เคราะห์ซ้ำกรรมซัดกำลังกระหน่ำใส่ตลาดทองคำอย่างหนักหนาสาหัส ระหว่างนี้เรื่อยไปจนถึงขวบปี 2557 ที่กำลังจะมาถึง
รายงานการศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจัดทำโดยค่าย โกลด์แมนแซคส์ สะท้อนถึงความสลดหดหู่ของสินค้า โภคภัณฑ์หลากหลายรายการที่จะเกิดขึ้นในรอบปี 2557
ในทรรศนะของค่ายโกลด์แมนแซคส์ เห็นว่าภาพรวมของระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งประกอบไปด้วยทองคำ เหล็ก ทองแดง ถั่วเหลือง ข้าวโพด มีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงจากปีนี้ในอัตราร้อยละ 15 ในปี 2557
กรณีของทองคำ มีความโน้มเอียงที่จะตกต่ำลงเหลือค่าเฉลี่ยเพียงแค่ออนซ์ละ 1,050 ดอลลาร์สหรัฐ จากที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,200-1,350 ดอลลาร์สหรัฐในรอบปีนี้ และน่าจะถือเป็นจุดต่ำสุดของราคาทองคำนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา
เหตุปัจจัยสำคัญที่กดดันระดับราคาทองคำให้อ่อนตัวลงในปี 2557 น่าจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ
ประการแรก ความต้องการบริโภคทองคำ และความต้องการถือครองทองคำ มีแนวโน้มลดลง
ประการที่สอง ทางการอังกฤษ โดยสำนักงานกำกับดูแลการเงิน (Financial Conduct Authority-FCA) มีท่าทีที่จะกำกับดูแลการกำหนดราคาทองคำ ในตลาด ทองคำลอนดอนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเสกสรรปั้นแต่งราคา เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคา แต่บิดเบือนความเป็นจริงตามปัจจัยพื้นฐาน และสร้างความเสียหายแก่ผู้ลงทุนในวงกว้าง ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงที่เกิดขึ้นในตลาดเงิน จากการให้เสรีภาพแก่สถาบันการเงินในการรวมหัวกันกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยืมในตลาดเงินลอนดอน หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่ออัตราดอกเบี้ย LIBOR
ตอนนี้ FCA ไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายขึ้นในวงการค้าทองคำ ซ้ำรอยวงการค้าเงิน จึงเคลื่อนไหวออกระเบียบหลักเกณฑ์ให้ 5 สถาบันการเงินคือโซซิเอเต้เยนเนอราล บาร์เคลย์ ดอยซ์แบงก์ เอชเอสบีซี และสโกเทียแบงก์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลในการกำหนดราคาทองคำประจำวันในตลาดทองคำลอนดอน ต้องถือปฏิบัติ
เมื่อราคาทองคำมีความโน้มเอียงป้อแป้อ่อนแอลงในปี 2557 ย่อมเป็นธรรมดาอย่างยิ่งที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและสกุลเงินของอัฟริกา ใต้ ซึ่งเป็นสกุลเงินของ 2 ประเทศที่ผลิตทองคำรายสำคัญของโลก จะต้องอ่อนยวบยาบตามลงมาอย่างแน่นอน
สำหรับราคาเหล็ก ก็จะต้องเผชิญชะตากรรมอับเฉาทำนองเดียวกับราคาทองคำ เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในปี 2557 มีแนวโน้มลดลง ขณะที่สต็อกเหล็กในโลกมีอยู่เหลือเฟือ
ราคาทองแดง ก็มีแนวโน้มของราคาอ่อนตัวลงจากที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ตันละ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาเคลื่อนไหวอยู่แถวๆ ตันละ 6,200 ดอลลาร์สหรัฐ
ระดับราคาถั่วเหลืองก็ทำนองเดียวกัน มีแนวโน้มที่ระดับราคาจะอ่อนตัวลงจากปีนี้ไปมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาทในปี 2557
ระดับราคาข้าวโพด ที่เคยเคลื่อนไหวอยู่แถวๆกิโลกรัมละ 5 บาท ก็จะทรุดตัววูบลงมาเตาะแตะอยู่แถวๆ กิโลกรัมละ 4 บาท ถึง 4 บาทสลึงในปี 2557
ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ จากแหล่งน้ำมันในทะเลเหนือ ก็มีแนวโน้มอ่อนตัวลงมาเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยที่บาร์เรลละ 107 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่บาร์เรลละ 105 ดอลลาร์สหรัฐ
ในเมื่ออะไรต่อมิอะไรล้วนมีราคาถูกลงในปี 2557 ไม่แน่ว่าชีวิตคนอาจถูกฉุดให้ต้องมีราคาถูกลงเหมือนราคาสินค้าก็เป็นได้
(2134)