IP PBX หัวใจสำคัญของ Unified Communication ในการสื่อสารระหว่างสำนักงานยุคนี้และยุคหน้า

บทความโดย ศุวิล ชมชัยยา, สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

IP PBX ในปัจจุบันมีให้เลือกใช้ทั้งแบบ premise-based และ hosted ซึ่งทั้งสองแบบต่างก็มีข้อดีและข้อด้อย ดังนั้นการพิจารณาตัดสินใจเลือกใช้ IP PBX ให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรจึงต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย

การสื่อสารแบบรวม (Unified Communication: UC) มีบทบาทมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรธุรกิจที่มีสำนักงานย่อย สาขา กระจายตัวอยู่ตั้งแต่ภายในอาณาบริเวณเดียวกันไปจนถึงระดับไร้พรหมแดน ซึ่งต้องการการสื่อสารที่ใช้งานได้ครบทุกรูปแบบ ทั้งภาพ (Video) เสียง (Voice) และข้อมูล (Data) ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ต้องมีใช้กันทั่วไปในเกือบทุกองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในปัจจุบัน Voice over Internet Protocol (VoIP) เป็นหนึ่งใน application ของ UC ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในองค์กรธุรกิจ เนื่องจากความสะดวกในการติดตั้งใช้งาน ความรวดเร็วในการสื่อสาร และต้นทุนที่ต่ำกว่าระบบโทรศัพท์แบบดั้งเดิมหรือ Public Switch Telephone Network (PSTN) ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า VoIP กำลังเข้ามาแทนที่ระบบโทรศัพท์แบบดั้งเดิมที่ใช้กันมาเป็นเวลานาน

เช่นเดียวกับระบบโทรศัพท์แบบดั้งเดิมที่มีตู้สาขา (Public Branch Exchange: PBX) ในการต่อหรือโอนสายเข้าไปยังจุดหมายที่ต้องการพร้อมกันโดยยังสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์สายหลักเพียงสายเดียว ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้หมายเลขโทรศัพท์สายตรงเฉพาะจุดหมาย โดยที่ PBX สามารถโอนสายโดยอัตโนมัติ หรือโดยเจ้าหน้าที่โอนสาย (operator) ในระบบ VoIP ก็ต้องมีตู้สาขาเช่นกัน แต่ด้วยความที่ VoIP เป็นระบบโทรศัพท์ที่อาศัยเครือข่ายโปรโตคอลอินเทอร์เน็ต (Internet Protocol Network: IP Network) ในการสื่อสารข้อมูล ดังนั้นจึงต้องมีระบบตู้สาขาสำหรับ VoIP หรือ IP-PBX ที่สามารถรองรับการทำงานของ VoIP ได้

PBX และ IP-PBX

ระบบโทรศัพท์แบบดั้งเดิมนั้นเป็นระบบการสื่อสารแบบสลับวงจร (Circuit Switch) ที่ต้องเชื่อมต่อต้นทางและปลายทางอยู่ตลอดเวลาจนกว่าการสื่อสารระหว่างกันจะสิ้นสุดลง แต่ VoIP เป็นการสื่อสารแบบสลับแพ็กเก็ต (Packet-Switch) เช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้นระบบตู้สาขาสำหรับ VoIP ก็ต้องออกแบบมาเพื่อรองรับโดยเฉพาะ ซึ่งระบบตู้สาขาโทรศัพท์แบบเดิมหรือ PBX ไม่สามารถใช้งานกับ VoIP ได้ เนื่องจากระบบตู้สาขาแบบเดิมนั้นรองรับการทำงานแบบสลับวงจร ซึ่งมีการพัฒนาและใช้งานมาก่อนเป็นเวลานาน และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานแบบสลับแพ็กเก็ตที่ใช้ใน VoIP ในปัจจุบัน

IP PBX หรือ Internet Protocol Private Branch Exchange จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการสื่อสารแบบ Unified Communication ที่สามารถรองรับการสื่อสารทุกรูปแบบที่เป็นแบบสลับแพ็กเก็ตผ่านทางเครือข่ายโปรโตคอลอินเทอร์เน็ต ซึ่ง IP PBX เป็นนวัตกรรมการสื่อสารที่พลิกโฉมวงการเทคโนโลยีโทรคมนาคม อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญสำหรับการสื่อสารในธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า สำนักงานย่อย หรือสาขาที่กระจายกันอยู่ทั่วโลกด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าระบบเดิม นอกจากนี้ IP PBX ยังสามารถใช้งานร่วมกับระบบโทรศัพท์แบบเดิมโดยมีการเชื่อมต่อผ่านทาง VoIP Gateway (ดังแสดงในรูปที่ 1) จึงทำให้สะดวกต่อการใช้งานและลดต้นทุนได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถติดตั้งใช้งานได้โดยไม่ต้องมีการเดินสายหรือวางระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมาที่องค์กรต้องมีการวางระบบเสริมแยกเฉพาะจากเครือข่ายโทรศัพท์ หากต้องการการสื่อสารแบบภาพและข้อมูลเพิ่มเติม

รูปที่ 1 การใช้งานระบบโทรศัพท์แบบเดิม (PSTN) ร่วมกับ VoIP Gateway และ IP PBX (source: www.3cx.com)

ทั้งนี้เนื่องจากทั้ง VoIP และ IP PBX ทำงานบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีใช้กันอยู่แล้วทั่วไป ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจจะสามารถสื่อสารทั้งภาพ เสียง และข้อมูล ผ่านทางเครือข่ายไปยังลูกค้า สำนักงานสาขาต่าง ๆ โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ อีกทั้งยังสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต คุ้มค่า และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไม่สูงมากนักในระยะยาว

IP PBX สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์โทรศัพท์ IP Phone ซึ่งมีทั้งแบบ Hardware ที่มีลักษณะเหมือนโทรศัพท์แบบทั่วไป แต่ใช้งานสำรหับ VoIP และ soft phone ที่เป็นซอฟต์แวร์ติดตั้งลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ มีส่วนติดต่อผู้ใช้งานแบบ GUI และใช้งานร่วมกับไมโครโฟนและหูฟังแบบทั่วไปที่มีหลากหลายรูปแบบตามแต่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ (แสดงในรูปที่ 2)

รูปที่ 2 VoIP soft phone (source: www.command-a.com.au)

อุปกรณ์โทรศัพท์แบบธรรมดาหรือ Analog Telephone แบบดั้งเดิมที่รวมถึงเครื่องโทรสาร (FAX) ยังคงใช้งานร่วมกับ IP PBX ได้ผ่านทาง Analog Telephony Adaptor (ATA) เชื่อมต่อกับ VoIP server หรือ DSL/cable modem

รูปที่ 3 การติดตั้งใช้งาน ATA (source: www.broadvoice.com)

เหตุผลที่องค์กรเปลี่ยนมาใช้ IP PBX

เหตุผลหลักที่ธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ IP PBX อาจเนื่องมาจากต้นทุนในด้านต่าง ๆ ที่ต่ำกว่าและความคุ้มค่าในระยะยาวเป็นปัจจัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นเหตุผลในการเปลี่ยนมาใช้ IP PBX อีกด้วย

ความสะดวกง่ายต่อการใช้งานโดยรวมเป็นปัจจัยอันดับต้น เนื่องจาก IP PBX สะดวกในการติดตั้งใช้งานและ Configure กว่า PBX ของระบบโทรศัพท์แบบดั้งเดิม IP PBX ยังมีในรูปแบบของซอฟต์แวร์หรือ Virtual PBX ที่สามารถติดตั้งใช้งานกับระบบปฏิบัติการบนเครื่องคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังมี user interface แบบ GUI ที่สะดวกและง่ายต่อการทำความเข้าใจก่อนใช้งาน ดังนั้น ผู้ที่มีความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายก็สามารถดูแลระบบได้ การดูแลและบริหารจัดการระบบก็สามารถทำได้ง่ายเช่นกัน เนื่องจากซอฟต์แวร์ของ IP PBX ที่นอกจากจะมี interface แบบ GUI แล้ว ยังมีให้เลือกทั้งแบบติดตั้งลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแบบ Software-as-a-service (SaaS) และสามารถใช้งานผ่านทาง web browser ทั่วไป นอกจากนี้ IP PBX ยังมีพื้นฐานอยู่บนมาตรฐานเปิดของโปรโตคอล SIP (Session Initiation Protocol) ซึ่งช่วยให้อุปกรณ์ต่างมาตรฐานกันสามารถใช้งานร่วมกันได้ เช่น IP Phone, soft phone, PSTN Gateway เป็นต้น

ต้นทุนในการติดตั้งใช้งาน IP PBX ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการที่องค์กรธุรกิจหันเหมาใช้ระบบ VoIP ในการสื่อสารหลักเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการในการใช้งานที่ต่ำลง แต่สำหรับบางองค์กรที่มีขนาดใหญ่นั้น การจะปรับเปลี่ยนทั้งระบบการสื่อสารขององค์กรใหม่ทั้งหมดในคราวเดียวดูจะเป็นการลงทุนที่สูงมาก และก่อให้เกิดความเสียหายมากเช่นกันหากระบบขัดข้องหรือหยุดชะงักเป็นเวลานาน ดังนั้น การปรับเปลี่ยนระบบบางส่วน หรือการใช้ระบบเดิม (legacy system) ร่วมกับระบบใหม่จึงเป็นหนทางที่เหมาะสมกว่า ซึ่ง IP PBX ช่วยให้การปรับเปลี่ยนระบบบางส่วนหรือการใช้งานระบบแบบลูกผสม (hybrid) เป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายระบบเพิ่มเติม เนื่องจากสามารถใช้งานบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้วได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ IP PBX ก็ยังมีแบบ Hosted ที่มีผู้ให้บริการจากภายนอกเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการระบบทั้งหมดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้อาจมีข้อเสนอที่ตรงกับความต้องการขององค์กร เช่น การคิดค่าธรรมเนียมอัตราพิเศษ หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมในการเชื่อมต่อในระหว่างสำนักงานสาขาย่อยภายในองค์กรเดียวกันที่เป็นทั้งการเชื่อมต่อแบบโทรศัพท์ทางไกลหรือโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และอาจเป็นผู้ให้บริการ VoIP แบบ Hosted ควบคู่กัน

Hosted IP PBX VS. Premise-based IP PBX

ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า IP PBX มีหลักการทำงานบนพื้นฐานของ PBX แบบดั้งเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง IP PBX และ PBX เป็นอุปกรณ์แบบ on-site ที่มีอุปกรณ์ติดตั้งใช้งานอยู่ในพื้นที่ของผู้ใช้งาน ซึ่งต้องลงทุนจัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์รวมทั้งยังต้องมีผู้ดูแลระบบอยู่ประจำ ดังนั้น อุปกรณ์แบบ on-site หรือ premise-based (แสดงในรูปที่ 4) จึงเหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่สามารถมี PBX หรือ IP PBX เป็นของตนเองได้ แต่สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความจำเป็นในการสื่อสารกับลูกค้าหรือสาขาย่อยเช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่นั้น การใช้บริการ PBX หรือ IP PBX จากผู้ให้บริการจากภายนอกหรือ Hosted IP PBX ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

รูปที่ 4 Premise-based IP PBX (source: www.nbvoice.com)

Centrex หรือ Centralized Exchange คือต้นแบบการให้บริการตู้สาขาสำหรับระบบโทรศัพท์แบบดั้งเดิมโดยผู้ให้บริการจากภายนอก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจขนาดเล็กโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนในตู้สาขาเอง และสำหรับ VoIP นั้น IP PBX ก็มีการให้บริการแบบเดียวกันที่เรียกว่า Hosted IP PBX (แสดงในรูปที่ 5) ซึ่งช่วยให้การอัพเกรดระบบโทรศัพท์ภายในและระหว่างสาขาของธุรกิจขนาดเล็กเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไปนัก และหากต้องมีการใช้งานร่วมกับระบบโทรศัพท์แบบเดิมที่มีอยู่ Hosted IP PBX จะสามารถช่วยประหยัดการลงทุนในช่วงเริ่มต้นได้มาก อุปกรณ์สำหรับ Hosted IP PBX เช่น PBX Server จะติดตั้งและบริหารจัดการระบบโดยผู้ให้บริการ ลูกค้าผู้ใช้งานมีเพียงอุปกรณ์ VoIP (IP Phone, SIP-Phone, Soft Phone) เท่านั้น ดังนั้น หน้าที่ในการดูแล ซ่อมบำรุง รวมถึงอัพเกรดระบบ จึงเป็นของผู้ให้บริการ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี การติดตั้งใช้งานทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างเพียงแค่การ configure ระบบที่ฝั่งผู้ใช้บริการไม่สามารถกระทำได้มากนัก อีกทั้งการอัพเกรดระบบ Hosted IP PBX นั้น ผู้ใช้งานจะต้องรอจนกว่าผู้ให้บริการจะเตรียมระบบจนพร้อม ซึ่งตรงข้ามกับ premise-based IP PBX ที่อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น PBX server และ switching ต่าง ๆ จะติดตั้งอยู่ที่ฝั่งผู้ใช้งาน ซึ่งหมายถึงผู้ใช้งานต้องรับภาระในการติดตั้ง ดูแล และอัพเกรดระบบ อีกทั้งการขยายระบบมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่า แต่ก็มีข้อดีคือสามารถอัพเกรดหรือ configure ระบบได้ทุกเมื่อตามต้องการ

รูปที่ 5 Hosted IP PBX (source: www.siptalk.com)

บทสรุป

ความนิยมในระบบ VoIP ของธุรกิจในยุคปัจจุบันส่งผลให้ IP PBX มีบทบาทและความสำคัญควบคู่กันไป IP PBX ช่วยให้การบริหารจัดการระบบ VoIP ทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กรกับสำนักงานหรือสาขาย่อยเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสื่อสารได้ครบทุกรูปแบบทั้งภาพ เสียง ข้อมูล ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับระบบโทรศัพท์แบบดั้งเดิม อีกทั้งการติดตั้งใช้งานก็ทำได้ง่าย ไม่ต้องวางระบบใหม่ทั้งหมดเนื่องจากทั้ง VoIP และ IP PBX ทำงานผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีใช้งานกันอยู่ทั่วไปจนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับธุรกิจในยุคปัจจุบัน

IP PBX ในปัจจุบันมีให้เลือกใช้ทั้งแบบ premise-based และ hosted ซึ่งทั้งสองแบบต่างก็มีข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นการพิจารณาตัดสินใจเลือกใช้ IP PBX ให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรจึงต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น ในระบบ Hosted IP PBX ที่เรียกเก็บค่าบริการรายเดือนตามจำนวนผู้ใช้งานหรือตามแต่ตกลง ผู้ใช้บริการไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนแรกเริ่มในการติดตั้งระบบ แต่ผู้ให้บริการที่เสนออัตราค่าบริการย่อมเยาอาจมีความเชี่ยวชาญเฉพาะกับองค์กรที่มีจำนวนผู้ใช้งานไม่มากนัก ซึ่งอาจมีปัญหาในอนาคตในกรณีที่มีการขยายธุรกิจหรือจำนวนสำนักงานสาขาย่อย ในทางกลับกัน แบบ premise-based ที่มีต้นทุนเริ่มแรกสูงกว่าที่รวมถึงค่าวัสดุอุปกรณ์ระบบ IP PBX ที่รวมถึง server, switching, gateway และซอฟต์แวร์ แต่ในระยะยาวอาจคุ้มค่ากว่าหากมีจำนวนผู้ใช้งานมาก ทั้งนี้นอกเหนือจากการพิจารณาด้วยปัจจัยอย่างรอบคอบแล้ว การวางแผนในการวางระบบที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในอนาคต ก็เป็นสิ่งจำเป็นและจะสามารถลดความสูญเปล่าในการลงทุนในระบบได้เช่นกัน

ที่มา: MICRO COMPUTER , mvt.co.th Vol.28, No.296, March 2010 (1292)

Comments are closed.